09 มิถุนายน 2555

ยาเสพติด


ยาเสพติด
                มีคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายได้มาหา  และรายงานให้พ่อทราบเกี่ยวกับยาเสพติด  มีสัตบุรุษบางคนค้ายาเสพติด  บางคนเสพยา  จะทำอย่างไรดีเมื่อเขามาวัด  ร่วมพิธีมิสซา  และมารับศีลศักดิ์สิทธิ์
เป็นที่ทราบกันว่า  ยาเสพติดมีผลร้ายต่อผู้เสพ  และการร่วมขบวนการค้ายาเสพติด  เป็นสิ่งผิดกฎหมาย  รัฐบาลทุกสมัยพยายามดำเนินการปราบปรามและป้องกันเยาวชนของเรา  และรณรงค์ทั่วไป  เช่น  รักในหลวง  ห่วงลูกหลาน  ต้านยาเสพติด
สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย  ได้จัดประชุมและออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้  เมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  พ.ศ. 2546  ว่า  ในฐานะที่รับผิดชอบด้านการศึกษาอบรม  และการแก้ไขปัญหาของสังคม  พระศาสนจักรจึงสนใจเป็นพิเศษต่อปัญหานี้  และการประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะร่วมมือกับรัฐบาล  เอาชนะการแพร่ระบาดของยาชนิดนี้
ได้มีข้อเสนอแนวทางในการปฏิบัติแก่ศาสนิกชนคาทอลิกไทย  4  ระดับ คือ  ระดับหมู่บ้านและชุมชน  ระดับวัด  ระดับโรงเรียน  และระดับกรรมการต่างๆ ในสภาพระสังฆราชฯ  เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัด  จึงนำมาเสนอ  2  ระดับ  คือ 
1. ระดับหมู่บ้านและชุมชน
    1.1  ขอให้ร่วมกันสร้างหมู่บ้านและชุมชนให้เข้มแข็ง  สามารถป้องกันปัญหายาเสพติดได้  โดยที่ผู้นำชุมชนทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน  ทั้งกับองค์กรภาครัฐในทุกระดับ  เพื่อขจัดการแพร่ระบาดของยาเสพติด
    1.2  ขอให้ผู้นำชุมชนและหมู่บ้านจัดการพบปะเสวนาร่วมกันระหว่างสมาชิก  เพื่อช่วยกันกำหนดยุทธวิธีเอาชนะปัญหา  และติดตามดูแลมิให้สมาชิกในชุมชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด
    1.3  ขอให้ผู้นำชุมชนและหมู่บ้านได้ต้อนรับและเอาใจใส่ดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว  ให้มีโอกาสกลับคืนสู่ครอบครัว  ชุมชน  และดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข  เพราะบุคคลเหล่านี้คือพี่น้อง  และลูกหลานของเรา  อีกทั้งเป็นบุตรของพระเจ้า  มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
    1.4  ขอให้ครอบครัวที่มีสมาชิกที่ติดยาเสพติด  ได้ใช้โอกาสนี้กลับเข้าหาพระเจ้า  เชื่อและวางใจในพระเมตตาของพระองค์  โดยเพิ่มความรักและความเข้าใจต่อสมาชิกให้มากขึ้น  เพราะเขาต้องการการให้อภัยและความเห็นใจ  เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังใจให้เขาชนะความอ่อนแอ  จนสามารถเลิกยาเสพติดได้ในที่สุด
    1.5  ขอให้คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อครอบครัว  เป็นเจ้าภาพส่งเสริมและสนับสนุนให้สร้างครอบครัวอาสาสมัคร  เพื่อช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด  เช่น  การจัดกลุ่มครอบครัวเสวนา  เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์  การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์  การจัดกิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาและผู้ติดยา  ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพายาเสพติดอีกต่อไป
    2. ระดับวัด
      2.1  ขอให้พระศาสนจักรแต่ละท้องถิ่น  ให้ความสนใจ  ห่วงใยต่อผู้ที่ติดสารเสพติด  โดยเฉพาะยาบ้า  ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง  และหากมีพี่น้องคริสตชนของเราเข้าไปเกี่ยวข้อง  ขอให้ช่วยเหลือพวกเขาอย่างเหมาะสม
      2.2  ขอให้พระสงฆ์  นักบวช  ในฐานะที่เป็นผู้นำในระดับวัด  ได้ดูแลเอาใจใส่  และเทศน์สอนเรื่องพิษภัยของยาเสพติดให้แก่คริสตชน  เพื่อหาแนวทางป้องกันในรูปแบบต่างๆ เช่น  จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านสิ่งเสพติดทุกชนิด, การฟื้นฟูจิตใจ  เป็นต้น
      2.3  ขอให้พระศาสนจักรแต่ละท้องถิ่น  จัดให้มีผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติดในชุมชนวัด  และให้สมาชิกสภาอภิบาลของวัดเป็นแกนนำ  เพราะเป็นผู้รู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนและหมู่บ้านของตน
      2.4  ในกรณีที่คริสตชนเป็นผู้ค้ายาเสพติด  หรือเป็นมือปืนรับจ้างฆ่า  ไม่มีการกลับใจอย่างชัดเจนและแท้จริงก่อนเสียชีวิต  ให้งดการประกอบพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณปลงศพแก่บุคคลดังกล่าว
      3. ระดับโรงเรียน
        3.1  โรงเรียนคาทอลิกทั่วประเทศ  จะต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด  เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน  ในการดำเนินนโยบายป้องกันปัญหายาเสพติด  โดยใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่  พร้อมทั้งร่วมใจกับรัฐบาลที่กำหนดโครงการต่างๆ เช่น  “โรงเรียนสีขาว”  ของกระทรวงศึกษาธิการ  และ “โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ”  ของกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานด้านเอาชนะปัญหายาเสพติด
        3.2  นอกจากกิจกรรมที่กระทรวงฯ เสนอแนะแล้ว  ผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิก  ควรสนับสนุนให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาดูงาน  และสัมผัสเกี่ยวกับเรื่องการบำบัดผู้ติดยาเสพติด  หรือผู้ที่ต้องโทษเพราะคดียาเสพติด  เพื่อจะได้มีโอกาสเห็นและพูดคุยกับบุคคลเหล่านั้น  หรือจัดการรณรงค์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น  ค่ายจริยธรรม  ค่ายยุวธรรมทูต  วาย.ซี.เอส  พลศีล  เป็นต้น
        4. ระดับคณะกรรมการฯ ต่างๆ ในสภาพระสังฆราชฯ
          4.1  ให้กรรมาธิการฝ่ายสังคมรับผิดชอบจัดทำแผนต่อเนื่อง  เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติด  โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  (ป.ป.ส.)  กระทรวงยุติธรรม  และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  อีกทั้งให้คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาเป็นผู้ประสานงานกับท้องถิ่น  ที่มีศูนย์สังคมพัฒนาทำงานกับชุมชนในแต่ละสังฆมณฑล
          4.2  ให้กรรมาธิการฝ่ายสังคมเป็นผู้จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลตัวอย่างดีๆ ของบุคคลในหมู่บ้าน/ชุมชน  เพื่อเป็นบทเรียนที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้สนใจแก้ไขปัญหายาเสพติด
          4.3  ให้ทุกคณะกรรมการฯ ภายใต้สภาพระสังฆราชฯ ได้ร่วมมือรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคณะกรรมการฯ  ในประเด็นเรื่องสิ่งเสพติดนี้อย่างจริงจัง  และเกิดผล
          สำหรับในเขตวัดนั้นๆ คุณพ่อเจ้าอาวาสได้ประกาศกับคริสตชนด้วยว่า
          1. สำหรับผู้ค้ายาเสพติด  ห้ามเข้าวัดและรับศีลมหาสนิท
          2. สำหรับผู้เสพ  เข้าวัดได้แต่ห้ามรับศีลมหาสนิท
          จำเป็นที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อความมั่นคงของประเทศ  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน  ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติครับ
          โดย พระสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์

          ผู้กลับใจ