04 เมษายน 2555

ทำไมจึงเรียกคาทอลิกว่า “โรมันคาทอลิก”

ทำไมจึงเรียกคาทอลิกว่า “โรมันคาทอลิก”


     ตามความหมายนั้น โรมันคาทอลิกคงจะหมายถึงคาทอลิกแห่งเมืองหรือสังฆมณฑลแห่งโรม 
การใช้คำในภาษาอังกฤษที่หมายถึงชาวคาทอลิกทั้งหมดที่เป็นหนึ่งเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชแห่งกรุงโรมนั้น คือ ต้นกำเนิดล่าสุด 


     โรมันคาทอลิก” เป็นคำที่ชาวอังกฤษคิดขึ้นเองในศตวรรษที่ 19 โรมันนั้นมีความคล้ายคลึงกับแองกลีกัน แต่ “โรมัน” น่าจะหมายถึงพระศาสนจักรคาทอลิกที่ชาวแองกลิกันในประวัติศาสตร์ใช้หมายถึงพระศาสนจักรแห่งอังกฤษ นับตั้งแต่พระศาสนจักรคาทอลิกมิใช่พระศาสนจักรประจำชาติที่มีพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีเป็นประมุขของพระศาสนจักรเหมือนกับพระศาสนจักรแองกลีกัน ตรงข้ามกับสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นประมุขของพระศาสนจักรคาทอลิก ทรงเป็นบุคคลผู้หนึ่งของชนชาติใดก็ได้ มีความเด่นชัดในความเป็นคาทอลิก 


      ตามประเพณีและการเรียกอย่างถูกต้องสำหรับคริสตชนในความเป็นหนึ่งเดียวกับกรุงโรมคือ “คาทอลิก” มิใช่ “โรมันคาทอลิก” หลังจากการปฏิรูปได้เกิดพระศาสนจักรอื่นๆ ที่ยังถือว่าตนเองเป็นคาทอลิก หรือเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรสากลของมวลคริสตชน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้พระศาสนจักรต่างๆ นั้นแตกต่างจากพระศาสนจักรคาทอลิกดั้งเดิม ดังนั้นจึงเริ่มใช้ชื่อ “พระศาสนจักรโรมัน” หรือ “พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก”


      ตามคำอธิบายของนักบุญเยโรม แห่งเยรูซาเล็ม (ค.ศ. 315-386)  คำว่า “คาทอลิก” นั้นหมายถึงพระศาสนจักรที่แผ่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก สอนข้อความเชื่อทั้งปวงที่มนุษย์จำเป็นต้องรู้เพื่อความรอดพ้นของพวกเขา และมีพันธกิจต่อมวลมนุษย์ชาติ    เป็นพันธกิจที่องค์พระคริสตเจ้าทรงมอบให้บรรดาศิษย์ของพระองค์คือ “จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:19) ตามคำกล่าวของนักบุญเปาโลนั้น พระศาสนจักรอ้าแขนต้อนรับมนุษย์ทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยก คือ “ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่มีทาสหรือไท ไม่มีชายหรือหญิงอีกต่อไป    เพราะท่านทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเยซู” (กท 3:28, คส 3:11)


      คำว่า คาทอลิก ยังคงใช้อยู่ในพระศาสนจักรตั้งแต่ยุคแรกเริ่มเป็นต้นมา ต้นศตวรรษที่ 2 นักบุญอิกญาซีโอ แห่งอันทิโอก ใช้คำนี้หมายถึงพระศาสนจักรทั้งมวลในการเปรียบเทียบกับพระศาสนจักรท้องถิ่น ในศตวรรษที่ 11 เมื่อมีการแยกพระศาสนจักรทางตะวันออกนั้น พวกเขาเรียกตัวเองว่าพระศาสนจักร “ออโธด๊อกซ์” ในขณะที่พระศาสนจักรตะวันตกยังคงเรียกว่า “พระศาสนจักรคาทอลิก” มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม


      ขบวนการปฏิรูปที่ได้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 16 นั้น นำไปสู่การเกิดพระศาสนจักรอื่นๆ  บางพระศาสนจักรใช้ชื่อประเทศต้นกำเนิด เช่น พระศาสนจักรแห่งอังกฤษ หรือพระศาสนจักรแองกลีกัน ส่วนพระศาสนจักรอื่นๆ ใช้ชื่อผู้ก่อตั้ง เช่น พระศาสนจักรลูเธอร์รัน พระศาสนจักรที่มีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประมุขนั้นยังคงเรียกว่าพระศาสนจักรคาทอลิก ถึงแม้คำว่าพระศาสนจักรโรมันหรือพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกจะถูกนำมาใช้ด้วย โดยมากนอกพระศาสนจักร


      ชื่อตามประเพณีสืบทอดว่าคาทอลิกนั้นเป็นคำที่เหมาะสมยิ่งแล้วสำหรับบรรดาคริสตชนในความเป็นหนึ่งเดียวกับสำนักพระสันตะปาปาประจำกรุงโรม หรือที่เรียกว่าสันตะสำนัก  ในอีกแง่หนึ่ง คำว่าโรมันคาทอลิกที่เคยใช้มาแต่ดั้งเดิมและเริ่มแรกนั้นเป็นเหมือนกับชื่อเล่น

ปัสกา ความหมายของชีวิตใหม่


ปัสกา ความหมายของชีวิตใหม่ 
(บทความ โดย คุณพ่อเปโตร อูร์บานี จากวารสารอุดมสาร)

ปัสกาครั้งแรกของพระเป็นเจ้าเกิดขึ้นในสมัยโมเสส ครั้งนั้นชาวอิสราเอลถวายลูกแกะปัสกา และอพยพออกจากประเทศอียิปต์ ในคืนที่พระเป็นเจ้าเสด็จผ่านประเทศอียิปต์ บุตรหัวปีของชนอียิปต์ถูกทำลาย และประชากรของพระเป็นเจ้าได้รับอิสรภาพ การข้ามทะเลแดงหมายถึงความรอดเช่นกัน คือคนที่เข้าไปในทะเลแดง มีทั้งประชากรของพระคือชาวอิสราเอล และศัตรูของกษัตริย์ฟาโร แต่คนที่เป็นประชากรของพระได้รับความรอด และเป็นอิสระ ส่วนคนที่เป็นศัตรูของพระเป็นเจ้าจมน้ำตาย


พระเป็นเจ้าตรัสสั่งกับโมเสสและอาโรนว่า "ให้เดือนนี้เป็นเดือนเริ่มต้น สำหรับเจ้าทั้งหลาย ให้เป็นเดือนแรกในปีใหม่สำหรับพวกเจ้า ให้เตรียมลูกแกะไว้ครอบครัวละตัว ลูกแกะนั้นต้องปราศจากตำหนิ แล้วในเย็นวันนั้น ให้ที่ประชุมของอิสราเอลทั้งหมด ฆ่าลูกแกะของเขา แล้วเอาเลือดทาที่วงกบประตูทั้งสองข้าง ในคืนนั้น ให้เขากินขนมปังไร้เชื้อ และผักรสขม เจ้าทั้งหลายจงกินเลี้ยงดังนี้ คือให้คาดเอว สวมรองเท้า ถือไม้เท้าไว้ และรีบกินโดยเร็ว การเลี้ยงนี้คือปัสกาของพระเป็นเจ้า เพราะในคืนวันนั้นเอง เราจะผ่านไปในประเทศอียิปต์ และจะประหารบุตรหัวปีของมนุษย์และสัตว์ วันนี้จะเป็นวันระลึกสำหรับเจ้า ให้เจ้าทั้งหลายจงฉลองเทศกาลนี้ และถือเป็นกฎถาวร" ( อพย.12 )

ปัสกาครั้งที่สอง คือสมัยของพระเยซูเจ้า ที่พระเป็นเจ้าเผยความหมายที่แท้จริง ให้ปรากฏชัด นั่นคือ การที่พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านจากโลกนี้ ไปถึงพระเป็นเจ้าพระบิดา และการเสด็จผ่านจากโลกนี้ พระองค์ได้นำศัตรูเข้าไปด้วย ศัตรูของพระองค์ไม่ใช่ชาวอิสราเอล ที่จับพระองค์ตรึงกางเขน ไม่ใช่ชาวอียิปต์ในสมัยโมเสส แต่ศัตรูของพระเป็นเจ้าคือ บาป ปีศาจ และความตาย

พระองค์สิ้นพระชนมบนไม้กางเขน ดูเหมือนความตายชนะพระองค์ แต่ความเป็นจริงแล้ว พระองค์กลับคืนชีพในเช้าตรู่วันปัสกา กลับมีชัยชนะเหนือความตาย ในฐานะที่พระเยซูเจ้าเป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกคน เมื่อพระองค์เสด็จมา และพระองค์ทำลายศัตรูของพระเจ้า คือความตาย ดังนั้น อาศัยพระเยซูเจ้า เราจึงสามารถเข้าไปในปัสกาของพระเจ้า โดยไม่ต้องผ่านทางเครื่องถวายบูชาใดๆ อีก แต่การมีส่วนร่วมนี้ เราต้องต่อสู้กับบาป เราจึงจะมีชัยชนะ

คืนปัสกาจึงเป็นคืนแห่งชีวิตใหม่ เพราะพระเยซูเจ้าได้นำชีวิตใหม่ คืนกลับมาให้เราอีกครั้ง ดังนั้นจากความหมายของปัสกาเดิม คือ ฉลองอิสรภาพที่ได้รับมา จากการหนีการตามล่าของกษัตริย์ฟาโรห์ อาศัยพระเป็นเจ้า ส่วนปัสกาใหม่ คือการฉลองอิสรภาพจากบาป ที่ได้รับอาศัยพระเยซูเจ้า นี่คือความหมายที่แท้จริงของปัสกา


ส่วนพิธีกรรมและบทอ่าน ที่พระศาสนจักรกำหนดขึ้นนั้น ได้แก่ พิธีตื่นเฝ้าปัสกา พิธีเสกไฟ ยังที่ชุมชนสัตตบุรุษนอกวัด พระสงฆ์ ประธานในพิธี จุดเทียนปัสกาจากไฟที่เพิ่งเสก และขีดบนเทียนปัสกา ที่มีตัวอักษร อัลฟา โอเมกา และพิธีเสกน้ำ เพื่อใช้ในศีลล้างบาป ในคืนนี้เองจะมีพิธีโปรดศีลล้างบาปอย่างสง่า แก่ผู้ใหญ่ที่เตรียมตัวอย่างดีมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ในคืนวันเสาร์ศักสิทธิ์ พระศาสนจักรในสมัยแรกๆ จะทำการฉลองปัสกาตลอดคืน จนถึงรุ่งเช้า ด้วยการอ่านบทอ่าน เทศน์สลับกับการร้องเพลง มีบทอ่านตั้งแต่ปฐมกาล เล่าถึงการสร้างโลก กล่าวถึงอับราฮัมถวายอิสอัคบุตรชายแก่พระเจ้า กล่าวถึงชาวอิสราเอลข้ามทะเลแดง ที่พระศาสนจักรห้ามไม่ให้เว้นบทอ่านบทนี้ เพราะนี่เป็นการกล่าวถึง ประวัติความรอดของมนุษยชาติ มาตามลำดับ แต่ปัจจุบันนี้มีการลดบทอ่านไปหลายบท
พิธีตื่นเฝ้าปัสกา ต้องเป็นเวลากลางคืน แต่มีระยะหนึ่งต้องทำการฉลองในตอนเช้าวันเสาร์ ต่อมาพระสันตปาปาปีโอที่ 12 ได้ปฏิรูปพิธีกรรมใหม่ ให้กลับมาทำพิธีฉลองตอนกลางคืนดังเดิม
หลังวันปัสกา ที่พระศาสนจักรเรียกว่า อัฐมวารปัสกา หรือที่เรียกว่าสัปดาห์อาภรณ์ขาว พระสงฆ์จะสวมอาภรณ์สีขาวหนึ่งอาทิตย์ เดิมนั้นคริสตชนในยุคแรก มีอบรมผู้ใหญ่ที่ได้รับศีลล้างบาป ในคืนปัสกาแล้วต่อไปอีกหนึ่งอาทิตย์ และให้คริสตังค์ใหม่สวมชุดขาวตลอดหนึ่งอาทิตย์ด้วย ปัจจุบันประเพณีนี้เลิกใช้ไปแล้ว
หนังสือกิจการอัครสาวกบทที่ 2 เล่าว่า ชาวยิวมีประเพณีชุมนุมกันในวันฉลองวันกู้ชาติ (ปัสกาเดิม) ไปอีก 50 วันเพื่อขอบคุณพระเป็นเจ้า หลังจากสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว และทำพิธีถวายรวงใหม่แด่พระเป็นเจ้า ซึ่งบรรดาอัครสาวก ก็ได้ชุมนุมกันในโอกาสนี้ด้วย และการชุมนุมนี้ นับเป็นวันที่ 50 หลังการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า วันเดียวกันนี้เอง ที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนืออัครสาวก ในรูปลิ้นไฟ ที่กำลังชุมนุมกันอยู่ในห้องปิดประตูลั่นดาน


คำว่า เปนเตกอสเต(Pentecoste) เป็นคำภาษากรีกแปลว่า 50 วัน เกิดขึ้นในยุคพระศาสนจักรอันเป็นวันที่ 50 ของปัสกาใหม่ วันนี้จึงเป็นวันเกิดของพระศาสนจักร ประชากรใหม่ของพระเป็นเจ้า หลังจากที่อัครสาวกได้รับพระจิตเจ้า ก็แยกย้ายกันออกไปประกาศข่าวดีทั่วโลก คือ การกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า นำมนุษย์กลับคืนดีกับพระเป็นเจ้า นำความหวังและความรอดให้มนุษยชาติ
ข่าวดีนี้แพร่ออกไปจนสุดปลายพิภพ ถึงปัจจุบันนี้จวนจะครบปีที่ 2000 แล้วก็ตาม แต่งานเลี้ยงครั้งสุดท้าย พระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นปัสกาถวายแด่พระเป็นเจ้า ยังคงถูกรื้อฟื้นทำขึ้นอยู่ทุกวัน โดยบูชามิสซา ที่พระสงฆ์ถวายอยู่ทุกนาที ณ ทั่วทุกมุมโลก เป็นงานเลี้ยงศักสิทธิ์ ที่เลี้ยงดูประชากรใหม่ของพระเป็นเจ้า ไปจนกว่าเขาจะเข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาที่แท้จริง ที่ไม่ใช่ดินแดนคานาอัน ที่สัญญาไว้กับอับราฮัม ที่เป็นทะเลทรายอันกว้างใหญ่ แต่เป็นสวรรค์ที่ประทับของพระบิดาเจ้า 

ปัสกาของพระคริสต์


ปัสกาของพระคริสต์ 
( บทความ จากวารสารอุดมศานต์ )

ถ้าหากจะถามว่า เทศกาลอะไรที่สำคัญที่สุคในศาสนาคริสต์ หลายท่านก็คงตอบทันทีว่า "เทศกาลคริสต์มาส" เพราะเห็นว่ามีงานเฉลิมฉลองกันใหญ่โตแทบทุกปี และกลายเป็นประเพณีสากลไปแล้ว แต่ความจริงแล้ว เทศกาลที่สำคัญที่สุดในศาสนาคริสต์ก็คือ "เทศกาลปัสกา" หรือ "เทศกาลอีสเตอร์" ต่างหาก


ทำไมถึงว่าเทศกาลนี้สำคัญที่สุด เหตุผลก็เพราะว่า เทศกาลนี้เป็นเทศกาลที่เราชาวคริสต์ได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง การคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า หลังจากที่พระองค์ถูกทรมาน และสิ้นพระชนม์บนกางเขนแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่แสดงว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้ ที่สามารถชนะบาปและความตายได้ เป็นการก้าวพ้นจากความชั่ว ความทุกข์มาสู่ความดีและความสุข พูดง่ายๆ ก็คือ การตายและการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านั้น ทำให้เราหลุดพ้นจากบาป ความชั่ว ความตาย และมีชีวิตใหม่พร้อมกับพระองค์ สิ่งเหล่านี้เราถือว่าเป็นมรดกแห่งความเชื่อของคริสตชนเลยทีเดียว


อันที่จริง ถ้าหากเราจะสืบสาวราวเรื่องลงไป ถึงต้นตอจริงๆ ของคำว่า "ปัสกา" นั้นก็จะเห็นว่า "ปัสกา" (Pasqual) เป็นคำมาจากภาษาฮิบรู แปลว่า "การข้าม หรือการก้าวกระโดดผ่านไป" เป็นวันที่ชาวยิวฉลองการกินขนมปังไร้เชื้อ โดยจะฉลองกันในวันที่ 14 ของเดือนนิชาน (Nisan) ก็ราวๆ เดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน ทั้งนี้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่ พระเป็นเจ้าทรงช่วยเหลือบรรพบุรุษของพวกเขา ให้ออกมาจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ เมื่อหลายพันปีก่อน


เรื่องราวเกี่ยวกับปัสกาของชาวยิวนี้ เราจะพบได้ในหนังสืออพยพ บทที่ 12 ในพระธรรมเก่า ซึ่งจะกล่าวถึงเรื่องการที่พระยาเวย์ ได้ช่วยเหลือชาวอิสราเอล ให้พ้นจากความตาย และเป็นอิสระจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์ โดยการนำเลือดแกะมาทาไว้ที่วงกบประตูบ้าน และช่วยพวกเขาข้ามทะเลแดง ส่วนวันปัสกาของชาวคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิกนั้น ถึงแม้ว่าจะมีรากฐานมาจากชาวยิวี้ก็ตาม แต่ว่าปัสกาของชาวคริสต์นั้น ไม่ได้เป็นการฉลองการกินขนมปังไร้เชื้อเหมือนชาวยิว หากแต่เป็นการฉลองเหตุการณ์ที่พระคริสตเจ้า ทรงไถ่บาปของมนุษยชาติโดยการยอมรับทรมาน สิ้นพระชนม์ และเสด็จกลับคืนชีพ โดยมีเครื่องหมายผ่านจากความตาย และกลับคืนชีพเป็นสัญลักษณ์ เป็นการ "ข้ามพ้น" จากความทุกข์ มาสู่ความยินดี จากบาปและความตายมาสู่ชีวิตใหม่ 

เรื่องราวและเหตุการณ์เกี่ยวกับปัสกาในพระธรรมใหม่ หรือเรื่องราวการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านี้ เราสามารถที่จะพบได้ในพบได้ในพระคัมภีร์ ทั้งในบันทึกของ มัทธิว บทที่ 28, มาระโก บทที่16, ลูกา บทที่ 24, และยอห์น บทที่ 20 จึงอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์นี้สำคัญมาก จนผู้นิพนธ์พระวรสารทั้ง 4 ต้องบันทึกไว้อย่างละเอียดทุกๆ คน
พยานที่ยืนยันการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ก็คือ มารีอา ชาวมักดาลา เราจะเห็นได้ว่านางไปที่หลุมศพ พบว่าคูหาว่างเปล่า แต่ที่สุดเธอก็ได้พบกับพระเยซูเจ้า จึงได้กลับไปเล่าเรื่องที่เห็น ให้พวกสาวกของพระองค์ฟัง และหลังจากนั้นในตอนบ่าย ศิษย์สองคน ซึ่งกำลังเดินทางไปหา เอมมาอุส ก็ยังได้พบพระเยซูเจ้าด้วย


นอกจากนั้น เมื่อครั้งพระเยซูเจ้าแสดงองค์ครั้งแรกแก่บรรดาอัครสาวก ที่ห้องชั้นบนในแคว้นกาลิลีนั้น โทมัสไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย เมื่ออัครสาวกคนอื่นๆ บอกเรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า โทมัสกลับไม่เชื่อ และกล่าวว่าจะไม่เชื่อ จนกว่าจะได้เอานิ้วแยงรอยแผลที่พระหัตถ์ และสีข้างของพระเยซูเจ้าก่อน จนกระทั่งพระเยซูเจ้าประจักษ์เเป็นครั้งที่สอง และโทมัสอยู่ด้วย และเห็นกับตา เขาจึงยอมเชื่อ เรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า หลังจากนั้น สาวกทุกคนก็ได้เปลี่ยนพฤติกรรมจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนที่เคยอ่อนแอก็เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพื่อจะเทศน์สอนเรื่องพระเยซูกลับเป็นขึ้นมา อย่างไม่เกรงกลัวภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งตัวตายพวกเขาก็ยอม


จริงๆ แล้ว การกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านั้น มีความสำคัญและมีความหมายสำหรับคริสตชนมาก เพราะนี่แสดงว่าพระเยซูเจ้านั้น เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ และเราเป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้า เป็นพี่น้องกัน และสุดท้ายเราจะกลับเป็นขึ้นมาจากความตาย และมีชีวิตนิรันดรกับพระองค์


ส่วนเรื่องเกี่ยวกับประเพณี หรือสัญลักษณ์สำหรับวันปัสกา เช่น ไข่ และไก่งวง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั้น ก็มีเรื่องราวความเป็นมาว่าดังนี้
ไข่ ในสมัยก่อนนั้น คนโบราณจะรู้สึกดีใจและมีความสุขมาก เมื่อถึงการกลับมาของฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง ชาวอียิปต์โบราณและชาวเปอร์เซีย เขาจะทำการฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ด้วยการกินไข่ เพราะว่าไข่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดมา และการมีชีวิตใหม่ และบังเอิญว่า เทศกาลอีสเตอร์ มาตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิพอดี คริสตชนจึงได้นำประเพณีโบราณนี้ มาประยุกต์เอาว่า ไข่นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ เป็นชีวิตเต็มไปด้วยความชื่นบาน และความดี
นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดอีกว่า ในพระศาสนจักรเริ่มแรกนั้น ไข่ได้เคยห้ามรับประทานเป็นอาหาร ระหว่างเทศกาลมหาพรต แต่เมื่อจบเทศกาลมหาพรตแล้ว คริสตชนก็ต่างดีใจ ที่จะได้กินไข่อีกครั้งหนึ่ง และตั้งแต่นั้นมา ก็เป็นประเพณีกินไข่อีสเตอร์ และแจกไข่ในเวลาต่อมา


ถ้าหากเรามีโอกาสไปร่วมฉลองวันปัสกา หรืออีสเตอร์ตามโบสถ์ใหญ่ๆ เราจะเห็นว่าในวันนี้ พวกเขาจะนำไข่ไปย้อมสีต่างๆ หรือวาดรูปและเขียนคำอวยพรต่างๆ นำไปซ่อนไว้ตามพุ่มไม้หรือกอหญ้า เพื่อให้ผู้ไปร่วมฉลอง ได้มีโอกาสค้นหาไข่ปัสกาหรือไข่อีสเตอร์ ไม่ว่าเด็ก คนหนุ่มสาว หรือแม้แต่คนเฒ่าแก่ พวกเขาจะค้นหาไข่ปัสกาด้วยความสนุกสนาน และมีความสุขที่สุด เพราะวันปัสกา เป็นวันแห่งความสุขวันหนึ่งสำหรับทุกๆ คนนั่นเอง

ปัสกา (Easter)


ปัสกา (Easter) 
(คอลัมน์ "เปิดซองคำถาม" โดยบอระเพ็ด เจ็ดย่านน้ำ จากวารสารอุดมศานต์) 


คำ Easter เป็นศัพท์แองโกล-แซ็กซอน หมายถึง เทพเจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ ( Anglo-Saxon Easter ,a goddess of sping ) แต่คำ "ปัสกา" มาจากภาษาฮิบรู Pesach หมายถึงการผ่านของทูตสวรรค์ ในคืนที่อิสราแอลพ้นจากการเป็นทาส ในแผ่นดินอียิปต์ (อพย. 12.11)

ฉลองปาสกาของชาวคริสต์จึงหมายถึง การฉลองการผ่านจากความทุกข์สู่ความยินดี อาศัยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระคริสเจ้า หรือความหมายทางเทววิทยา ปัสกาคือ ฉลองการข้ามพ้นบาปนั่นเอง
นับตั้งแต่เริ่มแรกพระศาสนจักร ถือว่าการกอบกู้มนุษยชาติของพระเยซูคริสต์ ประกอบด้วยมหาทรมานและการกลับคืนชีพ ดังนั้น ฉลองปัสกา จึงต้องประกอบด้วยพิธีกรรม 2 ภาคดังกล่าว เริ่มด้วยพิธีกรรมวันศุกร์ศักสิทธิ์ และจบด้วยพิธีกรรมวันอาทิตย์ปัสกา พึงสังเกตว่า พิธีระลึกการตั้งศีลมหาสนิท และการล้างเท้าอัครสาวกในวันพฤหัสศักสิทธิ์นั้น เพิ่งจะมีในภายหลัง ราวศตวรรษที่ 2-8 คริสตชนรุ่นแรกๆ ได้เน้นการเตรียมฉลองปัสกาอย่างมาก ในศตวรรษที่ 2 เอง มีทางเชื่อได้ว่า มีการจำศีลอดอาหารตลอดอาทิตย์ศักสิทธิ์ทีเดียว ในสมัยกลาง มีธรรมเนียมไปดูพระคูหาศักสิทธิ์ ต่อมามีการนมัสการพระกายของพระคริสต์ ที่ประทับในพระคูหา ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมนมัสการกางเขนในวันศุกร์ศักสิทธิ์


เกี่ยวกับวันปัสกา ที่มีปัญหาไม่ตรงกันสักปี มีความเป็นมาดังนี้ พระศาสนจักรตะวันออกยึดเอาวันที่ 14 เดือนนิซานของชาวยิว ( ประมาณกลางเดือน มีนาคม - เมษายน ) ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นพระชนม์ ในวันที่ลูกแกะปัสกาถูกฆ่าบูชายัญในพระวิหาร เป็นวันปัสกา ตามข้อเขียนของนักบุญเปาโล " พระคริสต์องค์ของเราได้ถูกฆ่าบูชายัญ " ( 1 คร.5.7 ) แต่พระศาสนจักรตะวันตก เป็นต้นที่โรม ถือตามธรรมเนียมซึ่งฉลองปัสกาวันอาทิตย์เสมอ จึงถือเอาวันอาทิตย์หลังวันที่ 14 เดือนนิซาน เนื่องจากปฏิทินยิวถือตามจันทรคติ วันฉลองปัสกาจึงไม่คงที่

พระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ

พระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ 
(คำสอน 5 นาที โดยศูนย์คำสอนสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จากวารสารอุดมสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 16)


การกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นความจริงที่ชาวคริสต์เชื่อ และชื่นชมยินดี ที่เชื่อนั้นก็เพราะ เป็นสิ่งที่อัครสาวกของพระองค์ ได้ประสบพบเห็นมาก่อน อย่างน้อยก็มีเหตุการณ์ 2 ประการ ที่ทำให้พวกเขากล้าประกาศยืนยันว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ คือ


1. การประจักษ์ของพระองค์
พระเยซูเจ้าได้ปรากฏมาหาบรรดาสาวกของพระองค์ ที่ห้องซึ่งพวกเขามาชุมนุมกันถึงสองครั้ง และสนทนากับพวกเขาด้วย (ยน.20:19-29; ลก.24:37-42) สาวกบางคนไม่อยู่ในเวลาที่ พระองค์ประจักษ์ครั้งแรก ก็สงสัยและท้าทาย คือโทมัส จนเมื่อพระองค์ประจักษ์อีกครั้ง จึงยอมรับว่า "พระอาจารย์เจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า" (ยน.20:28)
สาวกที่กำลังเดินทางกลับเมืองเอมมาอูสก็เช่นกัน ...หมดหวัง ... แต่พระเยซูเจ้าได้ปรากฏมาสนทนากับเขาระหว่างทาง ...จนพวกเขารู้สึกเร่าร้อนภายใน และจำพระองค์ได้ตอนที่ทรงหักปัง ...จึงรีบกลับไปหาสาวกทั้งสิบเอ็ด ที่กรุงเยรูซาเล็มในคืนนั้นทันที เพื่อเล่าเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ทราบ (ลก:24:13-35)
พระเยซูเจ้าได้ปรากฏแก่ มารีอาชาวเมืองมักดาลา ในเวลาเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ ที่อุโมงฝังศพของพระองค์ นางเองคิดว่าพระองค์เป็นคนทำสวน จนเมื่อพระองค์ได้ทักนางก่อน นางจึงจำพระองค์ได้ และเล่าเรื่องนี้ให้สาวกฟัง (มธ.16:19-11, ยน.20:11-18)

เพราะการประจักษ์ของพระเยซูเจ้า บรรดาสาวกจึงไม่ลังเล ที่จะประกาศเรื่องการกลับคืนชีพของพระองค์ แก่ประชาชนในสมัยของท่าน ชาวคริสต์สมัยต่อๆ มา ซึ่งได้เชื่อ ก็ประกาศยืนยันสืบเนื่องกันมาเรื่อย จนถึงสมัยปัจจุบัน

2. คูหาว่างเปล่า

หลังจากที่พวกทหารโรมันเห็นว่า พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว และตามธรรมเนียมของชาวยิว ไม่อนุญาตให้ศพค้างบนกางเขนในวันพระ จึงอนุญาตให้โยเซฟชาวเมืองอาริมาเธีย นำพระศพไปฝังที่อุโมงแห่งหนึ่ง (ยน.19:38-42) และเอาก้อนหินใหญ่ปิดปากอุโมงไว้ (มก.15:47) หัวหน้าสมณะและพวกฟาริสี ได้ขอให้มียามเฝ้าอุโมงไว้ เพราะจำได้ว่า พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ว่า "หลังจากตายแล้วสามวัน เราจะกลับเป็นขึ้นมาจากตาย" จึงกลัวพวกสาวกของพระองค์ ไปขโมยศพ และโกหกประชาชนว่า พระองค์กลับคืนชีพ (มธ.27:62-66)
เช้าตรู่วันอาทิตย์ มารีอาชาวมักดาลาได้ไปที่อุโมง เพื่อจะไปเยี่ยมพระศพ แต่กลับพบหินปิดอุโมงเคลื่อนออก คูหาว่างเปล่าไม่มีพระศพ เหลือแต่ผ้าป่าน ที่ใช้พันพระศพวางทิ้งไว้อยู่ที่นั่น ...จึงรีบไปตามเปโตร และยอห์นศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก พวกเขารีบมาที่อุโมง พบคูหาว่างเปล่า เขาได้เห็นและเชื่อ (ยน.20:1-10)

ยามที่เฝ้าอุโมง ได้ไปรายงานเรื่องนี้ให้หัวหน้าสมณะ ที่จ้างตนทราบ หัวหน้าสมณะได้ให้เงินแก่ยาม และให้บอกว่าพวกสาวกพระเยซูเจ้า มาขโมยพระศพไป (มธ.28:11-15)
คูหาอันว่างเปล่า และผ้าพันศพนี้จึงหมายถึง ร่างกายของพระเยซูเจ้า ได้พ้นพันธะของความตาย และความเสื่อมสลาย โดยพระฤทธานุภาพทั้งสองสิ่ง ช่วยให้บรรดาสาวก ได้พบปะกับพระคริสผู้ทรงกลับคืนชีพ
ความเชื่อในเรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า เป็นแก่นสำคัญที่สุดของศาสนาคริสต์ เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่บรรดาสาวกได้พบกับพระคริสต์ ผู้ทรงกลับคืนชีพจริงๆ เป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ ที่ช่วยให้เราเข้าใจชีวิตมนุษย์ดีขึ้น คือ เราจะมีส่วนในการกลับคืนชีพ มีชีวิตใหม่เช่นเดียวกัน และประสบการณ์ของบรรดาสาวกในวันปาสกานั้น ก็เป็นประสบการณ์ของบรรดาชาวคริสต์ในสมัยต่อมา คือ พระองค์ได้เผยพระองค์แก่ศิษย์ ที่รวมกันในพิธีบูชามิสซา เพราะเรารู้จักพระองค์ทางพระคัมภีร์ ทางการอภัยบาป และการหักปัง

ผู้กลับใจ