04 เมษายน 2555

ปัสกา ความหมายของชีวิตใหม่


ปัสกา ความหมายของชีวิตใหม่ 
(บทความ โดย คุณพ่อเปโตร อูร์บานี จากวารสารอุดมสาร)

ปัสกาครั้งแรกของพระเป็นเจ้าเกิดขึ้นในสมัยโมเสส ครั้งนั้นชาวอิสราเอลถวายลูกแกะปัสกา และอพยพออกจากประเทศอียิปต์ ในคืนที่พระเป็นเจ้าเสด็จผ่านประเทศอียิปต์ บุตรหัวปีของชนอียิปต์ถูกทำลาย และประชากรของพระเป็นเจ้าได้รับอิสรภาพ การข้ามทะเลแดงหมายถึงความรอดเช่นกัน คือคนที่เข้าไปในทะเลแดง มีทั้งประชากรของพระคือชาวอิสราเอล และศัตรูของกษัตริย์ฟาโร แต่คนที่เป็นประชากรของพระได้รับความรอด และเป็นอิสระ ส่วนคนที่เป็นศัตรูของพระเป็นเจ้าจมน้ำตาย


พระเป็นเจ้าตรัสสั่งกับโมเสสและอาโรนว่า "ให้เดือนนี้เป็นเดือนเริ่มต้น สำหรับเจ้าทั้งหลาย ให้เป็นเดือนแรกในปีใหม่สำหรับพวกเจ้า ให้เตรียมลูกแกะไว้ครอบครัวละตัว ลูกแกะนั้นต้องปราศจากตำหนิ แล้วในเย็นวันนั้น ให้ที่ประชุมของอิสราเอลทั้งหมด ฆ่าลูกแกะของเขา แล้วเอาเลือดทาที่วงกบประตูทั้งสองข้าง ในคืนนั้น ให้เขากินขนมปังไร้เชื้อ และผักรสขม เจ้าทั้งหลายจงกินเลี้ยงดังนี้ คือให้คาดเอว สวมรองเท้า ถือไม้เท้าไว้ และรีบกินโดยเร็ว การเลี้ยงนี้คือปัสกาของพระเป็นเจ้า เพราะในคืนวันนั้นเอง เราจะผ่านไปในประเทศอียิปต์ และจะประหารบุตรหัวปีของมนุษย์และสัตว์ วันนี้จะเป็นวันระลึกสำหรับเจ้า ให้เจ้าทั้งหลายจงฉลองเทศกาลนี้ และถือเป็นกฎถาวร" ( อพย.12 )

ปัสกาครั้งที่สอง คือสมัยของพระเยซูเจ้า ที่พระเป็นเจ้าเผยความหมายที่แท้จริง ให้ปรากฏชัด นั่นคือ การที่พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านจากโลกนี้ ไปถึงพระเป็นเจ้าพระบิดา และการเสด็จผ่านจากโลกนี้ พระองค์ได้นำศัตรูเข้าไปด้วย ศัตรูของพระองค์ไม่ใช่ชาวอิสราเอล ที่จับพระองค์ตรึงกางเขน ไม่ใช่ชาวอียิปต์ในสมัยโมเสส แต่ศัตรูของพระเป็นเจ้าคือ บาป ปีศาจ และความตาย

พระองค์สิ้นพระชนมบนไม้กางเขน ดูเหมือนความตายชนะพระองค์ แต่ความเป็นจริงแล้ว พระองค์กลับคืนชีพในเช้าตรู่วันปัสกา กลับมีชัยชนะเหนือความตาย ในฐานะที่พระเยซูเจ้าเป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกคน เมื่อพระองค์เสด็จมา และพระองค์ทำลายศัตรูของพระเจ้า คือความตาย ดังนั้น อาศัยพระเยซูเจ้า เราจึงสามารถเข้าไปในปัสกาของพระเจ้า โดยไม่ต้องผ่านทางเครื่องถวายบูชาใดๆ อีก แต่การมีส่วนร่วมนี้ เราต้องต่อสู้กับบาป เราจึงจะมีชัยชนะ

คืนปัสกาจึงเป็นคืนแห่งชีวิตใหม่ เพราะพระเยซูเจ้าได้นำชีวิตใหม่ คืนกลับมาให้เราอีกครั้ง ดังนั้นจากความหมายของปัสกาเดิม คือ ฉลองอิสรภาพที่ได้รับมา จากการหนีการตามล่าของกษัตริย์ฟาโรห์ อาศัยพระเป็นเจ้า ส่วนปัสกาใหม่ คือการฉลองอิสรภาพจากบาป ที่ได้รับอาศัยพระเยซูเจ้า นี่คือความหมายที่แท้จริงของปัสกา


ส่วนพิธีกรรมและบทอ่าน ที่พระศาสนจักรกำหนดขึ้นนั้น ได้แก่ พิธีตื่นเฝ้าปัสกา พิธีเสกไฟ ยังที่ชุมชนสัตตบุรุษนอกวัด พระสงฆ์ ประธานในพิธี จุดเทียนปัสกาจากไฟที่เพิ่งเสก และขีดบนเทียนปัสกา ที่มีตัวอักษร อัลฟา โอเมกา และพิธีเสกน้ำ เพื่อใช้ในศีลล้างบาป ในคืนนี้เองจะมีพิธีโปรดศีลล้างบาปอย่างสง่า แก่ผู้ใหญ่ที่เตรียมตัวอย่างดีมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ในคืนวันเสาร์ศักสิทธิ์ พระศาสนจักรในสมัยแรกๆ จะทำการฉลองปัสกาตลอดคืน จนถึงรุ่งเช้า ด้วยการอ่านบทอ่าน เทศน์สลับกับการร้องเพลง มีบทอ่านตั้งแต่ปฐมกาล เล่าถึงการสร้างโลก กล่าวถึงอับราฮัมถวายอิสอัคบุตรชายแก่พระเจ้า กล่าวถึงชาวอิสราเอลข้ามทะเลแดง ที่พระศาสนจักรห้ามไม่ให้เว้นบทอ่านบทนี้ เพราะนี่เป็นการกล่าวถึง ประวัติความรอดของมนุษยชาติ มาตามลำดับ แต่ปัจจุบันนี้มีการลดบทอ่านไปหลายบท
พิธีตื่นเฝ้าปัสกา ต้องเป็นเวลากลางคืน แต่มีระยะหนึ่งต้องทำการฉลองในตอนเช้าวันเสาร์ ต่อมาพระสันตปาปาปีโอที่ 12 ได้ปฏิรูปพิธีกรรมใหม่ ให้กลับมาทำพิธีฉลองตอนกลางคืนดังเดิม
หลังวันปัสกา ที่พระศาสนจักรเรียกว่า อัฐมวารปัสกา หรือที่เรียกว่าสัปดาห์อาภรณ์ขาว พระสงฆ์จะสวมอาภรณ์สีขาวหนึ่งอาทิตย์ เดิมนั้นคริสตชนในยุคแรก มีอบรมผู้ใหญ่ที่ได้รับศีลล้างบาป ในคืนปัสกาแล้วต่อไปอีกหนึ่งอาทิตย์ และให้คริสตังค์ใหม่สวมชุดขาวตลอดหนึ่งอาทิตย์ด้วย ปัจจุบันประเพณีนี้เลิกใช้ไปแล้ว
หนังสือกิจการอัครสาวกบทที่ 2 เล่าว่า ชาวยิวมีประเพณีชุมนุมกันในวันฉลองวันกู้ชาติ (ปัสกาเดิม) ไปอีก 50 วันเพื่อขอบคุณพระเป็นเจ้า หลังจากสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว และทำพิธีถวายรวงใหม่แด่พระเป็นเจ้า ซึ่งบรรดาอัครสาวก ก็ได้ชุมนุมกันในโอกาสนี้ด้วย และการชุมนุมนี้ นับเป็นวันที่ 50 หลังการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า วันเดียวกันนี้เอง ที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนืออัครสาวก ในรูปลิ้นไฟ ที่กำลังชุมนุมกันอยู่ในห้องปิดประตูลั่นดาน


คำว่า เปนเตกอสเต(Pentecoste) เป็นคำภาษากรีกแปลว่า 50 วัน เกิดขึ้นในยุคพระศาสนจักรอันเป็นวันที่ 50 ของปัสกาใหม่ วันนี้จึงเป็นวันเกิดของพระศาสนจักร ประชากรใหม่ของพระเป็นเจ้า หลังจากที่อัครสาวกได้รับพระจิตเจ้า ก็แยกย้ายกันออกไปประกาศข่าวดีทั่วโลก คือ การกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า นำมนุษย์กลับคืนดีกับพระเป็นเจ้า นำความหวังและความรอดให้มนุษยชาติ
ข่าวดีนี้แพร่ออกไปจนสุดปลายพิภพ ถึงปัจจุบันนี้จวนจะครบปีที่ 2000 แล้วก็ตาม แต่งานเลี้ยงครั้งสุดท้าย พระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นปัสกาถวายแด่พระเป็นเจ้า ยังคงถูกรื้อฟื้นทำขึ้นอยู่ทุกวัน โดยบูชามิสซา ที่พระสงฆ์ถวายอยู่ทุกนาที ณ ทั่วทุกมุมโลก เป็นงานเลี้ยงศักสิทธิ์ ที่เลี้ยงดูประชากรใหม่ของพระเป็นเจ้า ไปจนกว่าเขาจะเข้าสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาที่แท้จริง ที่ไม่ใช่ดินแดนคานาอัน ที่สัญญาไว้กับอับราฮัม ที่เป็นทะเลทรายอันกว้างใหญ่ แต่เป็นสวรรค์ที่ประทับของพระบิดาเจ้า 

ผู้กลับใจ