30 ธันวาคม 2556

บทอ่านประจำวันอังคาร 31 ธค 2013

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2013
น.ซิลเวสเตอร์ที่ 1 พระสันตะปาปา

บทอ่านจากจดหมายนักบุญยอห์นอัครสาวก ฉบับที่หนึ่ง                                      1 ยน 2:18-21
ลูกๆที่รักทั้งหลาย นี่เป็นวาระสุดท้าย ท่านได้ฟังแล้วว่า ปฏิปักษ์ของพระคริสตเจ้ากำลังมาและเวลานี้ ปฏิปักษ์จำนวนมากของพระคริสตเจ้าก็มาถึงแล้ว เพราะเหตุนี้เราจึงทราบว่า เป็นวาระสุดท้าย เขาทั้งหลายได้ออกไปจากเรา แต่เขาไม่ได้เป็นพวกของเราอย่างแท้จริง เพราะถ้าเขาเป็นพวกเดียวกันกับเราจริง เขาคงจะอยู่กับเรา แต่ที่เป็นดังนี้ก็เพื่อแสดงว่า   เขาเหล่านั้นทุกคนไม่เป็นพวกเดียวกับเรา ท่านทั้งหลายได้รับการเจิมจากองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ และทุกคนต่างได้รับความรู้  การที่ข้าพเจ้าเขียนถึงท่านทั้งหลายนั้น มิใช่เพราะท่านไม่รู้ความจริง แต่เขียนเพราะท่านรู้ดีอยู่แล้ว และเพราะไม่มีความมุสาใดมาจากความจริงได้

พระวรสารนักบุญยอห์น                                                                              ยน 1:1-18
เมื่อแรกเริ่มนั้น พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว พระวจนาตถ์ประทับอยู่กับพระเจ้า และพระวจนาตถ์ทรงเป็นพระเจ้า
พระองค์ประทับอยู่กับพระเจ้าแล้วตั้งแต่แรกเริ่ม พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งอาศัยพระวจนาตถ์ ไม่มีแม้เพียงสิ่งเดียวที่พระเจ้าทรงสร้าง โดยไม่อาศัยพระวจนาตถ์ ชีวิตอยู่ในพระองค์ และชีวิตเป็นแสงสว่างสำหรับมนุษย์ แสงสว่างส่องในความมืด และความมืด ไม่สามารถกลืนแสงสว่างนั้น
พระเจ้าทรงส่งชายผู้หนึ่งมา เขาชื่อ ยอห์น เขามาเป็นพยาน เพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง    ให้ทุกคนได้เชื่อเพราะฟังเขา เขาไม่ใช่แสงสว่าง แต่เป็นพยานถึงแสงสว่าง
แสงสว่างแท้จริง ซึ่งส่องสว่างแก่มนุษย์ทุกคน กำลังจะมาสู่โลก พระวจนาตถ์ประทับอยู่ในโลก และโลกถูกสร้างโดยอาศัยพระองค์ แต่โลกไม่รู้จักพระองค์ พระองค์เสด็จมาสู่บ้านเมืองของพระองค์ แต่ประชากรของพระองค์ไม่ยอมรับพระองค์
ผู้ใดที่ยอมรับพระองค์ คือผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ได้ประทานอำนาจให้ผู้นั้นกลายเป็นบุตรของพระเจ้า    เขา เหล่านี้มิได้เกิดจากสายเลือด มิได้เกิดจากความปรารถนาตามธรรมชาติ มิได้เกิดจากความต้องการของมนุษย์     แต่เกิดจากพระเจ้า
พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ และมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์   เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงมีจากพระบิดา ในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง   ยอห์นเป็นพยานถึงพระองค์ และประกาศว่า ‘นี่คือผู้ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงว่า ผู้ที่มาภายหลังข้าพเจ้า ได้นำหน้าข้าพเจ้าไป เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนข้าพเจ้า’ จากความไพบูลย์ของพระองค์
เราทุกคนได้รับ พระหรรษทานต่อเนื่องกัน เพราะพระเจ้าได้ประทานธรรมบัญญัติผ่านทางโมเสส แต่พระหรรษทานและความจริงมาทางพระเยซูคริสตเจ้า ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระบุตรเพียงพระองค์เดียว ผู้สถิตอยู่ในพระอุระของพระบิดานั้น ได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้

ข้อคิด
ปฎิปักษ์ของพระคริสตเจ้ามีอยู่เสมอ แสงสว่างมาความมืดก็มีขึ้น มีความดีก็มีความเลว มีผู้อยู่ฝ่ายพระและมีผู้ที่อยู่ฝ่ายผี ใจมนุษย์ก็มีทั้งใจดีและใจร้าย บางครั้งก็มีทั้งดีและร้ายในคนเดียวกันแม้แต่ตัวมนุษย์เองก็ยังไม่เข้าใจ พระเจ้าต้องการอาสาสมัครมาเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ว่าแสงสว่างที่พระองค์นำมาให้นี้สามารถทำให้เราเห็นความจริงและชีวิตได้ พยานเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่พยานในอดีตเช่นพวกอัครสาวก มรณสักขีทั้งหลาย แต่เป็นพยานในโลกปัจจุบันคือพวกเราทุกคนคริสตชน ชีวิตของพวกเราต้องให้ผู้อื่นมองเห็นพระเจ้า นี่เป็นหนทางที่จะสามารถเอาชนะปฎิปักษ์ของพระคริสตเจ้า ยึดมั่นในพระวาจาของพระและดำเนินชีวิตในหนทางแห่งความสว่างเสมอ


27 ธันวาคม 2556

หนทางความจริงและชีวิต แสงธรรมขุดพิเศษ 1

ความเชื่อที่ขัดกับความคิดเห็นของคนทั่วไป

"พระเยซูตรัสกับเขาว่า '“เพราะท่านได้เห็นเราท่านจึงเชื่อหรือ ผู้ที่ไม่เห็นเราแต่เชื่อก็เป็นสุข' " (ยอห์น 20:29)

นายปัญญาโลก ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องปริศนาธรรมของ จอห์น บันยัน กล่าวว่า "การเห็นคือความเชื่อ" แต่ผู้มีความเชื่อยืนยันว่า "ความเชื่อคือการเห็น"
เมื่อดูเผิน ๆ คำสอนในพระคัมภีร์หลายแห่งคล้าย ๆ จะขัดกับหลักของเหตุและผล พระเยซูทรงเคยเอาความจริงฝ่ายจิตวิญญาณมาสอนด้วยวิธีแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ขัดกับความเห็นของคนทั่วไป ตัวอย่างเช่น พระองค์ตรัสว่า
"เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงไปในดินและเปื่อยเน่าไป ก็จะคงอยู่เป็นเมล็ดเดียว แต่ถ้าเปื่อยเน่าไปแล้ว ก็จะงอกขึ้นเกิดผลมาก" (ยอห์น 12:24)
เปาโลเขียนจดหมายโดยใช้วิธีเดียวกันว่า
"ข้าพเจ้าถูกตรึงไว้กับพระคริสต์แล้ว ข้าพเจ้าเองไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป แต่พระคริสต์ต่างหากที่ทรงมีชีวิตอยู่ในข้าพเจ้า ชีวิตซึ่งข้าพเจ้าดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินอยู่โดยศรัทธาในพระบุตรของพระเจ้า ผู้ได้ทรงรักข้าพเจ้า และได้ทรงสละพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า" (กาลาเทีย 2:20)
คำสอนเรื่องความเชื่อ มักแฝงไว้ในสิ่งที่ดูเผิน ๆ ก็ขัดกับความคิดทั่ว ๆ ไป
การอดทนพิสูจน์ให้เห็นความเชื่อของโมเสส "ประหนึ่งได้เห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฎแก่ตา"
"เพราะความเชื่อ ท่านได้ออกจากประเทศอียิปต์ โดยมิได้เกรงกลัวความกริ้วของกษัตริย์ เพราะท่านมั่นใจประหนึ่งได้เห็นพระองค์ผู้ไม่ทรงปรากฏแก่ตา"(ฮีบรู 11:27)
แต่คนเราจะเห็นผู้ไม่ปรากฎแก่ตาได้อย่างไร ความเชื่อจะต้องนำมาใช้ในโลกของสิ่งที่ตามองไม่เห็น ซึ่งจะพิสูจน์ด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ไม่ได้ แต่เป็นโลกของสิ่งที่มีจริง สิ่งที่ตามองเห็นไม่ได้เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าคนเชื่อในสิ่งที่ตาเห็นได้ย่อมไม่มีปัญหา ทว่าเมื่อมองเห็นได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อ ความเชื่อเป็นข้อพิสูจน์ของสิ่งที่ยังไม่ได้เห็นว่ามีจริง และเอิ่งที่ยังมองไม่เห็นนั้นมาเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เชื่อ ความเชื่อคือการแน่ใจ โดยที่ยังไม่เห็น
ความเชื่อทำให้เราร้องเพลงได้ แม้จะติดคุกอยู่ นี่เป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ในเรื่องของเปาโลและสิลาส ทั้งสองร้องเพลงสรรเสริญแม้ยังไม่ได้รับการปลดปล่อย ความเชื่อนี้ถวายเกียรติแด่พระเจ้าขณะที่อยู่ในสถานการณ์สิ้นหวัง เป็นการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพแม้จะติดโซ่ตรวนอยู่
"คำแสดงความคิดถึงนี้เป็นลายมือของข้าพเจ้า เปาโล ขอท่านจงระลึกถึงโซ่ตรวนของข้าพเจ้า ขอให้พระคุณดำรงอยู่กับท่านด้วยเถิด" (โคโลสี 4:18)
เปาโล นักรบเก่าผู้ประสบชัยชนะกล่าวเตือนไว้
พลังที่เรามองไม่เห็น แต่มีอยู่จริงล้อมอยู่รอบตัวเรา เมื่อคนใช้ของเอลีชา มองเห็นกองทัพศัตรูบุกรุกเข้ามา ก็ร้องออกมาด้วยความหวาดกลัวว่า "อนิจจา นายของข้าพเจ้า เราจะทำอย่างไรดี" เอลีชาผู้ผ่านศึกแห่งความเชื่อมาอย่างโชกโชน ได้อธิษฐานว่า

"แล้วเอลีชาก็อธิษฐานว่า 'ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงเบิกตาของเขาเพื่อเขาจะได้เห็น และพระเจ้าทรงเบิกตาของชายหนุ่มคนนั้น และเขาก็ได้เห็นและดูเถิด ที่ภูเขาก็เต็มไปด้วยม้า และรถรบเพลิงอยู่รอบเอลีชา' " (2พงษ์กษัตริย์ 6:17)

ความเชื่อที่จำเริญขึ้น

"ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย เราต้องขอบพระคุณพระเจ้าเพราะท่านทั้งหลายอยู่เสมอ และเป็นการสมควรเพราะความเชื่อของท่านก็จำเริญยิ่งขึ้น และความรักของท่านทุกคนที่มีต่อกันทวีขึ้นมากด้วย" (2เธสะโลนิกา 1:3)

พระเยซูทรงสั่งสาวกให้ยกบาปต่อพี่น้องที่กระทำผิดแล้วมาขอโทษ แม้จะเป็นเช่นนี้ถึงวันละเจ็ดครั้งก็ตาม สาวกตอบอย่างงง ๆ ว่า "ขอพระองค์โปรดให้ความเชื่อของพวกข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น"
"ฝ่ายอัครทูตทูลพระองค์ว่า 'ขอพระองค์โปรดให้ความเชื่อของพวกข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น' " (ลูกา 17:5)
นกรณีนี้เขาขอความเชื่อ เป็นการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง เพราะรู้ตัวว่าไม่สามารถทำตามสิ่งที่พระเยซูตรัสสอน เขาจึงขอให้มีความเชื่อมากขึ้น ด้วยเหตุว่าเขาจะทำตามคำสอนนี้ได้ด้วยความเชื่อเท่านั้น การวินิจฉัยว่าขาดความเชื่อจึงเป็นเรื่องจริง แต่ไม่จริงทั้งหมด เพราะพระเยซูตรัสตอบโดยสอนให้เขาเห็นว่า ที่จริงเขาไม่ต้องการให้เพิ่มความเชื่อ แต่ต้องการความเชื่อที่มีชีวิตเหมือนอย่างเมล็ดผักกาดเล็ก ๆ ที่แฝงด้วยชีวิตอยู่ภายใน
"พระองค์จึงตรัสว่า 'ถ้าพวกท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่ง ท่านก็จะสั่งต้นหม่อนนี้ได้ว่า 'จงถอนขึ้นออกไปปักในทะเล' และมันจะฟังท่าน' " (ลูกา 17:6)
ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่ความเชื่อมากหรือน้อย แต่เป็นเรื่องคุณภาพของความเชื่อ จะต้องเป็นความเชื่อที่เติบโตขึ้น เพราะที่ใดมีชีวิต ที่นั่นต้องมีการเจริญเติบโตงอกงาม
เปาโล เขียนถึงคริสเตียนที่เมืองเธสะโลนิกาว่า
"ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย เราต้องขอบพระคุณพระเจ้าเพราะท่านทั้งหลายอยู่เสมอ และเป็นการสมควรเพราะความเชื่อของท่านก็จำเริญยิ่งขึ้น และความรักของท่านทุกคนที่มีต่อกันทวีขึ้นมากด้วย" (2เธสะโลนิกา 1:3)
พัฒนาการทางจิตวิญญาณจะก้าวหน้าและลึกล้ำได้ ย่อมขึ้นอยู่กับความเจริญเติบโตของความเชื่อ
ถ้าทุกสิ่งเป็นไปตามเงื่อนไขเหล่านี้ ความเชื่อจะเติบโตขึ้นได้อย่างอัตโนมัติ พระสัญญาของพระเจ้าเป็นอาหารเลี้ยงความเชื่อ บรรยากาศของความเชื่อจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเข้าเฝ้าอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้า ถ้าที่ใดมีความสงสัย ความเชื่อจะไม่อาจเติบโตได้ ถ้ามนุษย์ไม่มีที่พึ่งอื่นใด ก็ย่อมต้องพึ่งพระเจ้ามากยิ่งขึ้น ถ้าเรายึดมันตามพระสัญญามากขึ้นเท่าไร ความเชื่อก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
คนทั่วไปมักคิดว่า การที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานบ่อยและรวดเร็ว เป็นการเพิ่มความเชื่อ แต่ที่จริงแล้วตรงกันข้าม ความเชื่อจะเจริญขึ้นได้ ย่อมมาจากการที่ต้องต่อสู้อดทนในความยากลำบาก เมื่อไม่มีที่พี่งอื่นใดนอกจากพระเจ้า

ความเชื่อเจริญขึ้นได้มากที่สุด เมื่อเราวางใจพระเจ้า และไม่ใส่ใจกับข้อสงสัยใด ๆ วิธีแน่นอนที่สุดในการหยุดยั้งความเชื่อ คือ เก็บความสงสัยเอาไว้ และไม่ไว้ใจพระเจ้า ความเชื่อมักจะขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนาที่จะเชื่อ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็เชื่อขึ้นมาลอย ๆ อย่างไม่มีเหตุผล

ประวัติพระนางมารีอา


ประวัติพระนางมารีอา




เราพอจะเล่าประวัติของพระนางมารีอาได้ดังนี้
ท่านนักบุญอากิม(Saint Joachim) และนักบุญอันนา(Saint Anna) เป็นบิดาและมารดาของพระนาง เดิมไม่มีบุตร เนื่องจากนักบุญอันนาเป็นหมัน ท่านทั้งสองภาวนาต่อพระเป็นเจ้า พระองค์ทรงฟังคำภาวนาของท่านทั้งสอง จึงได้ให้นักบุญอันนาบังเกิดบุตรี ชื่อว่า มารีอา

พระนางมารีอาถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า โดยตั้งใจจะถือพรหมจรรย์ เมื่อถึงเวลาอันควรก็ต้องแต่งงานกับชายคนหนึ่งเพื่อเป็นคู่อุปถัมภ์ พระนางมารีอาได้หมั้นกับนักบุญยอแซฟ ซึ่งเป็นเวลาที่เทวดาคาเบรียลมาแจ้งแก่พระนางว่าจะตั้งครรภ์

เมื่อนักบุญยอแซฟทราบ ท่านก็ไม่เข้าใจ และคิดจะถอนหมั้นเงียบๆเพราะท่านเป็นคนชอบธรรม แต่เทวดาได้มาแจ้งแก่ท่านในฝันว่า ให้รับพระนางมารีอาไว้เป็นภรรยา เพราะบุตรที่เกิดมาคือองค์พระมหาไถ่ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นไปโดยอาศัยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า
เราเห็นถึงความรักต่อพระเป็นเจ้าที่พระนางมารีอาแสดงออกในชีวิตอันเป็นแบบอย่างดีแก่เรา ในการรับใช้พระเป็นเจ้าด้วยการทำตามน้ำพระทัยของพระในชีวิตของเรา แม้ท่ามกลางความทุกข์ลำบาก "แม่พระมหาทุกข์ 7 ประการ" คือวันฉลองวันหนึ่งในพิธีกรรมคาทอลิกที่พิจารณาถึงความทุกข์ในชีวิตของแม่พระ อันมีเหตุการณ์ยากลำบาก 7 ประการใหญ่ คริสตชนใช้รำพึง และใคร่ครวญถึงชีวิตที่รักพระ ด้วยการร่วมทุกข์ในแผนไถ่บาปอย่างที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ไถ่บาปมนุษย์ หากเราเข้าใจความทุกข์ในแง่นี้ เราก็จะสามารถมีชีวิตและบรรลุถึงเมืองสวรรค์ได้ การยอมรับน้ำพระทัยของพระเพื่อเข้าร่วมส่วนในมหาทรมานของพระเยซูเจ้าชดเชยบาป และไถ่บาปมนุษย์ทุกคน

คัดจากหนังสือ " ความเชื่ออันเป็นชีวิต" โดย พงศ์ ประมวล หนังสืออันดับที่ 117 จากการพิมพ์คาทอลิกประเทศไทย

อ้างอิงแหล่งที่มา : http://www.dbac.ac.th/TheBible/mother/mother2.html
พระนาม มารีย์” อาจมีความหมายได้ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1.  มารีอา  ภาษาฮีบรู แปลว่า  ดาวทะเล หรือ ดาราสมุทร 
2.
 มารีอา ภาษาซีเรียน แปลว่า  คุณนาย  (Our Lady, Notre Dame, Ma(Mia) Donna)
3. 
มารีอา ภาษาอียิปต์ แปลว่า  ผู้ที่พระเจ้าทรงรัก โปรดปราน
ในสมัยพระเยซูเจ้ามีผู้ตั้งชื่อนี้กันมาก คนแรกที่ใช้ชื่อนี้คือ พี่สาวของโมเสส(มีเรียม = มารีอา) สมัยชาวอิสราเอล ตกเป็นทาสของชาวอียิปต์

พระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า สมโภชวันที่ 1 มกราคม


พระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า

สมโภชวันที่ 1 มกราคม


วันที่ 8 หลังจากการฉลองพระคริสตสมภพ ( 25 ธันวาคม ) เราคริสตชนทำการฉลอง “พระนางมารีย์ พระชนนีพระเจ้า” แต่ว่า วจนพิธีกรรมในวันฉลองวันนี้แทนที่จะเน้นที่ “พระนางมารีอา” กลับไปเน้นที่ “พระบุตรของพระนางและพระนามของพระบุตร”
นักบุญเปาโลได้ย้ำถึงผลงานของการช่วยให้รอดที่ได้สำเร็จลงในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งพระนางมารีอาเองก็ได้มีส่วนอยู่ด้วย เพราะว่าเป็นพระนางเองที่พระบุตรพระเป็นเจ้า สามารถเสด็จลงมาในโลกนี้ในฐานที่ทรงเป็นมนุษย์จริง ๆ คนหนึ่ง ส่วนพระวรสารของวันนี้ได้จบลงด้วยการตั้งพระนาม “เยซู” ให้กับพระผู้เพิ่งได้บังเกิดมา ในขณะที่พระนางมารีย์ทรงมีส่วนร่วมในรหัสธรรมของพระบุตรพระเป็นเจ้าองค์นี่อย่างเงียบๆ
แม้ว่า วจนพิธีกรรมในการฉลองในวันนี้จะมุ่งความสนใจไปหา “องค์พระบุตร” แต่ก็มิได้ทำให้บทบาทของผู้ที่เป็น “พระชนนีพระเจ้า” ด้อยลงไปแต่อย่างใด การที่พระนางมารีย์เป็นพระชนนีพระเจ้าจริง ๆ ก็เพราะความสัมพันธ์ที่พระนางมีต่อพระบุตรอย่างแนบแน่นนั่นเอง ดังนั้น ยิ่งเราคริสตชนจะให้ความคารวะต่อพระนางเพียงใด พระบุตรก็ยิ่งจะได้รับการถวายพระเกียรติมากขึ้นเท่านั้น
การที่เราเรียกพระนางมารีย์ว่าเป็นพระชนนีพระเจ้า เป็นการแสดงให้เห็นถึงภาระหน้าที่ที่พระนางมีในประวัติศาสตร์แห่งความรอด และจากข้อเท็จจริงประการนี้แหละ ที่เป็นที่มาของความศรัทธาภักดีชนิดต่างๆ ที่บรรดาคริสตชนมีต่อพระนางมารีย์ เพราะว่าพระนางได้รับพระคุณมากมายจากพระเป็นเจ้ามิใช่สำหรับพระนางแต่เพียงผู้เดียว แต่ว่าเพื่อจะนำพระคุณ เหล่านั้นไปให้กับมวลมนุษย์อีกทอดหนึ่ง
พระชนนีพระเจ้าและพระมารดาของมนุษยชาติ
พระนาม “เยซู” อันมีความหมายว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอด” ได้ช่วยนำเราให้เข้าสู่ธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม คือ จากการรับเอากายในครรภ์ของพระมารดา โดยเดชะพระจิต จนถึงการบังเกิด การเข้าพิธีสุหนัต และไปสิ้นสุดที่รหัสธรรมปาสกาคือที่การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพ พระเยซูเจ้าจึงเป็นพระพรที่ครบบริบูรณ์ของพระเจ้า เป็นพระพรของการช่วยให้รอด และเป็นสันติภาพสำหรับมนุษย์ทุกคน
พวกเราได้รับการช่วยให้รอดในพระนามของพระองค์ (กจ. 2:21; รม.10:10,13) แต่ว่าการช่วย ให้รอดนี้ได้มาสู่มวลมนุษย์โดยผ่านทางพระนางมารีย์ และพระนางได้แบ่งปันพระคุณนี้ให้กับประชากรของพระเจ้า ดังเช่นที่เมื่อครั้งหนึ่งพระนางได้ให้กับพวกคนเลี้ยงแกะ พระนางมารีอาได้ให้ชีวิตมนุษย์แก่พระบุตรพระเจ้า และได้แบ่งปันชีวิตพระให้กับมนุษย์สืบมา ด้วยเหตุนี้ พระนางจึงได้รับการคารวะให้เป็นพระมารดาของมนุษย์ทุกคนซึ่งพระนางได้กำเนิดชีวิตพระให้
เช่นเดียวกับบรรดาคริสตศาสนิกชนทั้งหลาย พวกเราให้ความคารวะแด่พระนางมารีย์พรหมจารี ผู้ซึ่งพระสังคายนา ณ เมืองเอเฟซัส ได้ประกาศอย่างสง่าว่า พระนางทรงเป็นพระชนนีของพระเจ้าเพราะพระคริสตเจ้าได้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นบุตรพระเจ้าและเป็นมนุษย์ด้วย (UR 15)
พระมารดาแห่งสันติภาพ
ในพระนามของพระนางมารีย์ พระชนนีพระเจ้าและมารดาของปวงมนุษย์ ที่ทั่วโลกทำการฉลอง “วันแห่งสันติภาพ” ในวันนี้เป็นสันติภาพที่พระนางได้ค้นพบในความรักต่อองค์พระเจ้า เป็นสันติภาพที่พระเยซูเจ้าได้นำมาให้กับมนุษย์ทุกคนที่มีความเชื่อในพลังแห่งความรัก
สันติภาพในความหมายของพระคัมภีร์คือ พระคุณสุดวิเศษของพระแมสซียาห์ซึ่งหมายถึงการช่วยให้รอดที่พระเยซูเจ้าได้นำมาให้ และการที่เราได้คืนดีและมีสันติกับพระเจ้า นอกนั้นสันติภาพยังเป็นค่านิยมสูงส่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องพยายามช่วยกันสร้างสรรขึ้นมาให้ได้ เป็นต้นในระดับนานาชาติ
ความเชื่อในพระคริสตเจ้า สันติภาพระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ และสันติภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นภาระหน้าที่ที่คริสตชนทั้งหลายจะต้องมีบทบาทอย่างเต็มที่เสียก่อน เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะก่อให้เกิดสันติภาพในโลก โดยทั่วๆไป สันติภาพของพระคริสตเจ้ามิได้แตกต่างอะไรไปจากสันติภาพที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาอยากได้ จึงควรที่เราทุกคนจะได้อุทิศชีวิตเพื่อจะได้มาซึ่งสันติภาพดังกล่าวนี้
พระศาสนจักรไม่เคยหยุดที่จะให้ความสนใจถึงความจำเป็น ที่เราทุกคนจะต้องมีส่วนช่วยกันสร้างสันติภาพที่แท้จริง สันติภาพที่แท้จริงนี้ต้องตั้งอยู่บนความจริง ความยุติธรรม ความรัก และเสรีภาพ ซึ่ง เปรียบเสมือนเสาหลัก 4 ต้นของบ้านแห่งสันติภาพ ที่เปิดกว้างต้อนรับทุกๆคน (พระสันตะปาปายอห์น ที่ 23, 11-4-1963)
ต้องยุติสงครามและการสร้างอาวุธ
พระสันตะปาปาปอล ที่ 6 ได้กล่าวไว้ในโอกาสเสด็จไปที่องค์การ สหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ค ว่า “...จะต้องหยุดการต่อสู้หักล้างกันเสียที...พฤติกรรมเช่นนี้จะต้องไม่มีอีกต่อไป...” และด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวสหประชาชาติจึงได้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาสำหรับยุติสงครามและสร้างสันติภาพขึ้นแทน พวกเรายังคงจำคำพูดของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยอห์น เอฟ เคนาดี้ ได้ ที่กล่าวว่า “มนุษยชาติจะต้องยุติสงครามให้ได้ หรือจะให้สงครามยุติพวกเรา” ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดมากมายสำหรับประกาศเป้าหมายอันสูงส่งของสถาบันแห่งนี้ (=สหประชาชาติ) ให้เราเพียงแต่คิดถึงหยาดเลือดของมนุษย์จำนวนนับล้านๆ และความทุกข์ทรมานอีกนับจำนวนไม่ถ้วนที่มักจะเงียบหายเข้าไปในกลีบเมฆ รวมทั้งซากปรักหักพังต่างๆ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้พยายามที่จะช่วยสร้างสรรสันติภาพ และกำลังหาหนทางที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในอนาคตของโลกให้จงได้ คือ จงยุติสงครามเสียเถิด
“สันติภาพจะต้องคอยนำโชคชะตาของปวงชนและมนุษยชาติทั้งหมด ถ้าพวกท่านต้องการเป็นพี่น้องกันก็จงปลดอาวุธเสีย เราไม่สามารถรักกันได้โดยที่ยังมีอาวุธร้ายอยู่ในมือ” (สุนทรพจน์ที่องค์การสหประชาชาติ 4 ตุลาคม 1995)
บทอ่านที่ 1 บทอ่านจากหนังสือกันดารวิถี 
กดว 6:22-27
พระเป็นเจ้าตรัสแก่โมเสสว่า “จงบอกอาโรนและบุตรชายทั้งหลายของเขาว่า ท่านทั้งหลายจงอวยพรแก่บุตรหลานอิสราเอลว่าดังนี้
“ขอพระเจ้าอวยพรแก่ท่าน และปกปักรักษาท่าน ขอพระเจ้าทรงกระทำให้พระพักตร์ของพระองค์ส่องสว่างแก่ท่าน และทรงพระกรุณาต่อท่าน ขอพระองค์ทอดพระเนตรเหนือท่าน และประทานสันติสุขแก่ท่าน”
เขาจะเรียกขานนามของเราลงเหนือบุตรหลานอิสราเอลดังนี้แหละ และเราจะอวยพรแก่พวกเขา
บทอ่านที่ 2 
กท 4:4-7
พี่น้อง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าจะทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง เกิ ดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงไถ่ผู้ที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ และทำให้เราได้เป็นบุตรบุญธรรม ข้อพิสูจน์ว่าพวกท่านเป็นบุตรก็คือ พระเจ้าทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา พระจิตผู้ตรัสด้วยเสียงอันดังว่า “อับบาพ่อจ๋า” ดังนั้น ท่านจึงไม่เป็นทาสอีกต่อไป แต่เป็นบุตร ถ้าเป็นบุตรก็ย่อมเป็นทายาทตามพระประสงค์ของพระเจ้า
บทอ่านจาก พระวรสารนักบุญลูกา 
ลก 2:16-21
ขณะนั้น พวกเลี้ยงแกะพากันรีบไปยังเมืองเบธเลเฮม พบพระนางมารีย์ โยเซฟ และกุมารซึ่งนอนอ ยู่ในรางหญ้า เมื่อผู้เลี้ยงแกะได้เห็น ก็ได้เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับกุมารนี้ ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่อง ที่คนเลี้ยงแกะได้เล่าให้ฟัง ส่วนพระนางมารีย์ได้เก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ได้ และคิดคำนึงอยู่ในใจ คนเลี้ยงแกะได้กลับไปโดยถวายพระพรและสรรเสริญพระเจ้า ในเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์ได้บอกไว้
เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องเข้าสุหนัต เขาตั้งชื่อพระองค์ว่า “เยซู” อันเป็นนาม ที่ทูตสวรรค์ได้ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิในครรภ์ของพระมารดา
ข้อคิด ข้อรำพึง
การเปิดดวงใจของพระแม่มารีอา ในการน้อมรับแผนการณ์แห่งความรอดของพระเป็นเจ้าที่มีต่อมนุษย์ ทำให้เราทุกคนมีบุญได้รับความรักจากพระเป็นเจ้า ทางพระบุตรของพระองค์ที่ทรงมาบังเกิด มารับเอากายร่วมธรรมชาติมนุษย์กับเรา โดยทางพระเยซูเจ้าเราได้เป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้า เราจึงสามารถเรียกพระเป็นเจ้าเป็นพ่อของเรา และพระบิดาทรงเรียกชื่อเราแต่ละคนและอวยพรเรา

ผู้กลับใจ