23 มิถุนายน 2555

23 มิถุนายน นักบุญยอห์น พิชเชอร์ และ นักบุญโทมัส โมร์

นักบุญยอห์น พิชเชอร์ 

นักบุญยอห์น ฟิชเชอร์ เกิดที่เมืองยอร์คเชียร์ในประเทศอังกฤษ เป็นนักศึกษาก่อน แล้วมาเป็นอาจารย์ และที่สุดก็เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ท่านเป็นคนที่มีความรู้สูง เป็นนักมนุษยนิยม (Humanist) ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสังฆราชของเมืองโรเชสเตอร์ ชีวิิตของท่านเด่นเป็นพิเศษในเรื่องการถือความยากจน ความศรัทธาภักดีชีวิตที่เคร่งครัดบำเพ็ญตบะ ความมีใจร้อนรนในเรื่องการอภิบาลสัตบุรุษ ท่านเป็นผู้ที่มีความเชื่อที่ไม่หวั่นไหว ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากงานเขียนต่าง ๆที่ท่านได้เขียนขึ้นต่อสู้กับพวกเฮเรติกในสมัยของท่าน




นักบุญโทมัส โมร์
ส่วน นักบุญ โทมัส โมร์ เกิดที่กรุงลอนดอน และได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้เป็นอาจารย์สอนกฏหมาย ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา และได้มีตำแหน่งสำคัญในกิจการสาธารณะของประเทศอังกฤษ ต่อมาท่านได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 เช่นเดียวกับนักบุญ ยอห์น ฟิชเชอร์ ท่านได้้ใช้ปากกาของท่านเขียนหนังสือต่อสู้กับพวกเฮเรติกซึ่งกำลังคุกคามพระศาสนจักรอยู่ ท่านเป็นคนที่มีนิสัยดี น่ารักใจดี และกล้าหาญ รักบ้านและรักธรรมประเพณีต่างๆท่านเป็นคนตรงไม่ยอมอ่อนข้อหรือประนีประนอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

นักบุญทั้งสองไม่ยอมสนับสนุนเรื่องการหย่าของกษัตริย์และการที่พระองค์จะตั้งตัวเองขึ้นเป็นหัวหน้าของพระศาสนจักรในประเทศอังกฤษ พระสังฆราชนักบุญ ยอห์น ฟิชเชอร์ ได้คัดค้านกษัตริย์ในเรื่องนี้ ส่วนรัฐบุรุษนักบุญ โทมัส โมร์ ถึงกับได้ยอมสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อกษัตริย์เฮนรี่ได้แยกตัวเอาพระศาสนจักรของประเทศอังกฤษออกจากพระศาสนจักรที่กรุงโรม ท่านทั้งก็ถูกจับขังไว้ในหอคอยของกรุงลอนดอน ท่านเป็นพยานยืนยันถึงความเชื่อจนถึงที่สุด และถูกตัดศีรษะเป็นมรณสักขี

เขาเล่ากันว่าเซอร์โทมัส โมร์ แม้่กำลังจะต้องตายเป็นมรณสักขีก็ยังมีอารมณ์ขันแบบชาวอังกฤษอยู่ ท่านได้หยอกล้อเล่นกับเพชฌฆาตจนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้าย นี่แหละเป็นลีลาของบรรดาอัครธรรมทูต ซึ่งกลับมาจากสภาสูงของพวกยิวพลางโลดเต้นยินดี “พวกเขารู้สึกเป็นเกียรติและมีความสุขในการที่ได้ทนสบประมาทเพราะรักพระเยซูคริสตเจ้า” (กจ 5:41) และที่จริงความโลดเต้นยินดีนี้น่าจะเป็นลักษณะพิเศษสำหรับกลุ่มคริสตชนที่ได้มาร่วมกันถวายบูชามิสซา เพราะในบูชามิสซานี้ที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เราเป็นยัญบูชานิรันดร์อันสบพระทัยพระบิดาเจ้า และเราเองก็ได้่้รับการเลี้ยงดูด้วยปัง ด้วยจิตใจที่ร่าเริงยินดีและซื่อๆ (กจ 2:46)


คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ

1. ขอให้บรรดานายชุมพาบาลและนักการเมืองที่เป็นคริสตชน อย่าได้ยอมทำการประนีประนอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
2. ขอให้ทุกคนได้คืนสิ่งที่เป็นของกษัตริย์ให้แก่กษัตริย์ และคืนสิ่งที่เป็นของพระเจ้าให้แก่พระเจ้า
3. ขอให้การทนทุกข์ยากลำบากจงเป็นความภูมิใจและท่อธารแห่งความชื่นชมยินดีของเรา

นักบุญ คือใคร Saints


          นักบุญ คือบุคคลที่ขณะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ได้ดำเนินชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อ ในพระศาสนาอย่างสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ และเมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว พระศาสนจักรก็ได้ยกย่อง สดุดีคุณงามความดีต่างๆ ที่ท่านเหล่านั้นได้กระทำไว้ โดยถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่าง ที่เราสามารถเลียนแบบได้ และถือว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่เราสามารถเคารพ นับถือ และสวดวิงวอนขอพรจากพระเจ้า ผ่านท่านได้ เพราะเชื่อว่าท่านมีชีวิตนิรันดร อยู่ร่วมกับพระคริสตเจ้า ในสรวงสวรรค์แล้วนั่นเอง



ประวัติความเป็นมาของ คำว่า "นักบุญ" 

          ใน 6 ศตวรรษแรกๆ ของพระศาสนจักรนั้น นักบุญ คือผู้ที่ได้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อของตน สาเหตุก็เพราะว่าในสมัยนั้น คริสตศาสนายังถูกเบียดเบียน และข่มแหงอยู่มาก บรรดาคริสตชนหลายต่อหลายคน ได้ถูกจับไปประหารชีวิต เพราะเป็นคริสตชนหรือไม่ยอมทิ้งศาสนา 
คริสตชนที่พลีชีพ เพื่อประกาศความเชื่ออย่างเด็ดเดี่ยวเช่นนี้ เรียกว่า "มรณสักขี หรือมาร์ตีร์" (Martyr) ถือว่าเป็น   ชีวิตคริสตชนตัวอย่าง เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสตชนในยุคแรกๆ นั้น ต่างก็ยกย่องสดุดีให้ความเคารพ นับถือ และศรัทธาต่อท่านเหล่านั้นเป็นอันมาก จึงได้มีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อแสดงถึงความเคารพ และระลึกถึงท่าน เช่นการเคารพหลุมฝังศพ การสวดวิงวอน และการประกอบพิธี บนหลุมฝังศพของท่าน เป็นต้น
          ต่อมาเมื่อคริสตศาสนาได้รับการยอมรับ และกลายเป็นศาสนาประจำชาติโรมัน การเบียดเบียนจึงลดลง คราวนี้คนที่จะพลีชีพเพื่อศาสนาก็มีจำนวนลดน้อยตามไปด้วย ดังนั้น การเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญ ไม่จำเป็นว่าต้องตายเพื่อศาสนาเสมอไป แต่ชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อ และดำเนินไปตามพระบัญญัติ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ ก็น่าจะได้รับการยกย่อง ว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญได้ด้วย 
          ตั้งแต่นั้นมา การเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์ จึงเริ่มขยับขยายออกไปยังคริสตชนอื่นๆ ที่เจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ ยึดมั่นในพระธรรมคำสอน และปฏิบัติคุณงาม ความดีอย่างเคร่งครัด บางคนเด่นในการบำเพ็ญพรตบำเพ็ญตบะ บางคนเด่นในการเผยแผ่พระศาสนา บางคนเด่นในด้านการมีความรอบรู้ ในพระสัจธรรม หรือเป็น นักปราชญ์ และบางคนก็เด่นในด้านมีเมตตาจิต อุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ได้รับยกย่องว่าเป็น "ธรรมสักขี" (Confessors)



วิวัฒนาการการแต่งตั้งนักบุญ 

          ในช่วงศตวรรษที่ 6 - 10 ยังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เกี่ยวกับการแต่งตั้งใครคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์   หรือ   นักบุญ วิธีที่ใช้ตัดสินก็คือ การดูจากจำนวนคน ที่เคารพนับถือและศรัทธา จำนวนคนที่ไปเยี่ยมหลุมฝังศพ และได้รับความช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินแบบนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความแคลงใจ ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของคนนั้นคนนี้อยู่เสมอๆ 
         ดังนั้น พระศาสนจักรจึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ ให้ชัดเจนขึ้นว่า บุคคลใดควรอยู่ในข่าย ได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างแท้จริง
         โดยในระยะแรกๆ นั้น ขึ้นอยู่กับพระสังฆราช หรือประมุขคริสตชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 12 การอนุมัติเรื่องนี้ ต้องขึ้นกับพระสันตะปาปา แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้เพื่อจะเป็นหลักประกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่บุคคลผู้นั้นนั่นเอง
          จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1642 พระสันตะปาปาอูบาโนที่ 8 จึงได้ออกสมณกฤษฎีกา ว่าด้วยกฎเกณฑ์และวิธี การดำเนินการแต่งตั้งนักบุญขึ้น ต่อมาในสมัยของ พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จนกระทั่งล่าสุด ในปี ค.ศ. 1930 พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 จึงได้ทรงโปรดให้มีการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
          ปัจจุบันได้มีสมณกระทรวง ว่าด้วยการประกาศแต่งตั้งนักบุญโดยเฉพาะ ซึ่งก็แยกส่วนออกมาจาก สมณกระทรวงพิธีกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เกี่ยวกับคำร้อง และพิธีการดำเนิน การประกาศแต่งตั้งนักบุญ ทั่วพระศาสนจักรสากล โดยตรง



ขั้นตอนการแต่งตั้งให้เป็นนักบุญ

1. "บุญราศี" (Beatification)
          เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่ประชาชนยอม รับว่า เป็นคริสตชนตัวอย่างได้สิ้นชีวิตลง แล้วก็ปรากฎว่า มีผู้ได้รับผลจากการสวดวิงวอน ขอความช่วยเหลือจากท่าน พระสังฆราชท้องถิ่นนั้นๆ ก็จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น ประวัติของผู้ตาย และอัศจรรย์ต่างๆ ที่มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีข้อมูลที่แน่นอน และเป็นหลักฐานชัดเจน จากนั้นจึงรวบรวมเรื่องส่งไปยัง สมณกระทรวง ว่าด้วยการสถาปนานักบุญที่โรม เพื่อให้ดำเนินการสอบสวน จนเห็นสมควร จึงประกาศให้เป็นบุคคลที่ควรเคารพยกย่อง หรือ "คารวียะ"
          แต่ก่อนที่จะได้รับประกาศเป็นนักบุญราศีนั้น ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่า มีอัศจรรย์อย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น โดยอาศัยบุญบารมีของ "คารวียะ" (ในกรณีของมรณสักขี หรือผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา ความตายของเขา ก็ถือว่าเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ สามารถใช้แทนอัศจรรย์สองประการที่กำหนดนี้ได้)

2. "นักบุญ" (Canonization)
          หลังจากได้รับสถาปนาเป็นบุญราศีแล้ว ก่อนที่จะประกาศแต่งตั้งเป็น "นักบุญ" จะต้องมีผู้ได้รับอัศจรรย์ โดยคำวิงวอนของท่านบุญราศีผู้นั้นอีก อย่างน้อย 2 ประการ ซึ่งการคอยอัศจรรย์ขั้นนี้ อาจจะยาวนานหลายปี บางรายกินเวลาเป็นศตวรรษก็มี
         เมื่อผ่านขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ก็จะมีพิธีการประกาศแต่งตั้งบุญราศีองค์นั้น ขึ้นเป็น "นักบุญ" โดยพระสันตะปาปา ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ กรุงโรม เป็นพิธีที่สง่างามน่าประทับใจที่สุดพิธีหนึ่ง ที่ทางพระศาสนจักรจัดขึ้น เพราะการประกาศ สถาปนาบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นนักบุญ ย่อมหมายถึงเกียรติขั้นสูงสุด ที่คริสตชนคนหนึ่งพึงจะได้รับ โดยท่านผู้นั้น จะได้รับการประกาศ ชนิดที่พระศาสนจักรใช้เอกสิทธิ์ ความไม่รู้ผิดพลั้งของสมเด็จพระสันตะปาปา มาเป็นหลักประกัน ความจริง ท่านจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวคาทอลิกทั่วโลก และชื่อของท่านผู้นั้น ก็จะได้รับการบันทึกไว้ ในบัญชีสารบบนักบุญ ตลอดไปชั่วกาลนาน

ผู้กลับใจ