22 มิถุนายน 2555

มานาประจำวัน ~ เวลาที่ควรเงียบ

แต่พระเยซูทรงนิ่งอยู่ท่านมหาปุโรหิตจึงว่า
“…ให้บอกเราว่าท่านเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าหรือไม่” -มัทธิว26:63


จะมีเวลาไหนบ้างที่คริสเตียนไม่ควรพูดเรื่องของพระเจ้า? น่าจะมี เช่น เวลาที่เผชิญหน้าเรื่องความเชื่อกับคนที่เสแสร้ง การเงียบอาจจะเป็นการตอบสนองที่ดีที่สุดก็ได้ ในเหตุการณ์ที่พระเยซูทรงโต้ตอบกับคายาฟาส พระองค์ทรงเลือกที่จะเงียบในตอนแรก(มธ.26:63) พระองค์ทรงทราบว่าคายาฟาสไม่ได้สนใจอยากรู้ข้อเท็จจริง(มธ.26:59) เราไม่อาจล่วงรู้ใจของคนอื่นได้เสมอไป เราจึงต้องไวต่อการทรงนำขอพระวิญญาณในทุกสถานการณ์เพื่อเรา “จะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคน”(คส.4:6)

นอกจากนี้ หากคำตอบจะทำให้โต้แย้งยืดเยื้อไม่จบสิ้นหรือยิ่งทำให้ห่างไกลพระเจ้า เราน่าจะหยุดบทสนทนานั้น แล้วค่อยว่ากันใหม่วันหลัง

ยังมีเวลาอื่นอีกไหมที่การเงียบอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด? หากการพูดเรื่องความเชื่อทำให้เราหรือเพื่อนร่วมงานไขว้เขวไปจากการงานของเรา เราควรจะมีสมาธิกับการทำงาน หรือหากคนฟังต่อต้านอยู่เรื่อยๆ เราอาจจะต้องหยุดตามตื้อเขา ขอให้จำไว้ว่า เราจะเป็นพยานในเรื่องพระคุณของพระเจ้าได้ด้วยการกระทำของเราเช่นกัน (1 ปต.3:1-2) – RK

ข้าแต่พระเจ้าที่รัก เราปรารถนาที่จะเป็นพยานเพื่อพระองค์
ขอโปรดประทานสติปัญญาให้เรารู้ว่าเมื่อใดเราควรจะพูดหรือไม่ควรพูด
และจะพูดอะไรและไม่พูดอะไร ขอบพระคุณพระวิญญาณบริสุทธิ์
ที่ทรงนำเราวันนี้

การเงียบอาจเป็นเครื่องมือในการประกาศอย่างหนึ่ง




ฉันจะทำตามน้ำพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร?


ในการ “ทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า” นั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า.. อะไรเป็นสิ่งที่พระเจ้า “ ไม่ทรงพอพระทัย ” คำตอบก็คือ ความบาป “ ไม่มีสักคนเดียวที่ทำดี ไม่มีเลย” (สดุดี 14:3) เราได้กบฏต่อพระบัญญัติของพระองค์ “เราทุกคนได้เจิ่นไปเหมือนแกะ” (อิสยาห์ 53:6) 

ข่าวร้ายก็คือ โทษของความบาปคือความตาย “...ชีวิตใดทำบาปก็จะตาย” (เอเสเคียล 18:4) ข่าวดีก็คือ พระเจ้าแห่งความรักทรงตามเรากลับมา และไถ่เราให้รอดจากบาป พระเยซูทรงประกาศถึงพระประสงค์ของพระองค์ว่า พระองค์มาเพื่อ “เที่ยวหาและช่วยผู้ที่หลงหายไปนั้นให้รอด” (ลูกา 19:10) และพระองค์ทรงประกาศว่าพันธกิจของพระองค์จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนด้วยคำพูดที่ว่า “สำเร็จแล้ว!” (ยอห์น 19:30)

การมีสายสัมพันธ์อย่างถูกต้องกับพระเจ้าเริ่มต้นด้วยการยอมรับในความบาปของคุณ แล้วเข้ามาสารภาพบาปอย่างถ่อมสุภาพกับพระเจ้า (อิสยาห์ 57:15) และตัดสินใจที่จะละทิ้งความบาปนั้น “...การยอมรับสัจจะของพระเจ้าด้วยปากก็นำไปสู่ความรอด” (โรม 10:10)

การกลับใจใหม่นั้นต้องมีความเชื่อด้วย โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องการสละพระชนม์ของพระเยซู และการฟื้นขึ้นมาใหม่อย่างอัศจรรย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคุณอย่างแท้จริง “คือว่าถ้าท่านจะรับด้วยปากของท่านว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อในจิตใจว่า พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ท่านจะรอด” (โรม 10:9) มีข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่กล่าวถึงความจำเป็นเรื่องของความเชื่อ เช่นใน พระธรรม ยอห์น 20:27; กิจการ 16:31; กาลาเทีย 2:16; 3:11, 26; เอเฟซัส 2:8

การทำตามน้ำพระทัยพระเจ้านั้น เป็นเรื่องของการตอบสนองต่อสิ่งที่พระเจ้าทรงทำให้คุณ พระองค์ทรงประทานพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ประทานเครื่องบูชาเพื่อรับความบาปผิดไปจากเรา (BB. ยอห์น 1:29) และพระองค์ทรงให้พันธสัญญาว่า “ทุกคนซึ่งได้ออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะรอด” (BB. กิจการ 2:21) 

ภาพอันสวยงามที่บรรยายถึงเรื่องของการกลับใจและการยกโทษ เปรียบได้กับเรื่องบุตรชายที่หลงหายไปแล้วกลับใจใหม่ (พระธรรม ลูกา 15:11-32) บุตรคนเล็กนั้นได้ผลาญทรัพย์สมบัติที่พ่อให้มาด้วยความบาปที่น่าละอาย (ข้อ 13) และเมื่อเขาสำนึกผิดในสิ่งที่เขาทำไปลง เราก็ตัดสินใจกลับมาบ้าน (ข้อ 18) เขาคิดว่าเขาไม่สมควรจะเป็นลูกของพ่ออีกต่อไป (ข้อ 19) แต่เขาคิดผิด พ่อเขากลับรักลูกที่กลับใจใหม่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีก (ข้อ 20) ทุกสิ่งที่ลูกทำลงไปได้รับการอภัยหมดทั้งสิ้น และเขาก็จัดงานเลี้ยงฉลองกันขึ้น (ข้อ 24) พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อต่อพระสัญญาของพระองค์ รวมถึงพระสัญญาที่จะยกโทษให้ “พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ผู้ที่จิตใจฟกช้ำ และทรงช่วยผู้ที่จิตใจสำนึกผิด” (สดุดี 34:18) 


ผู้กลับใจ