02 มีนาคม 2555

กำยานในพิธีมิสซา


ประวัติความเป็นมา
         การใช้กำยานในพิธีทางศาสนามีมาก่อนศาสนาคริสต์ เช่น ในอียิปต์ใช้กำยานเผาเพื่อเป็น
การให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับ หรือเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นการถวายบูชา
แด่เทพเจ้า และเป็นเครื่องหมายแสดงความยินดี  และแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศแห่งความ
ศักดิ์สิทธิ์

         ชาวอิสราเอลใช้กำยานเผาบูชารอบ  
“หีบพันธสัญญา”   และต่อมาใช้ในพระวิหารที่กรุง
เยรูซาเล็ม มีบัญญัติของพระเจ้าต่อโมเสสว่า ชาวอิสราเอลจะต้องมีพระแท่นเผากำยาน ซึ่งจะเผากำยานหอมทุกเช้าและทุกเย็น เป็นเครื่องหมายแห่งการสดุดีพระเจ้า วางไว้บนพระแท่นนั้น
   (เทียบ อพย 30:1-10)

         ใน ลก 1:8-9 ได้กล่าวถึงเศคาริยาห์ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่สมณะ ตามเวรในหมวดของตน ตามธรรมเนียมของสมณะ และท่านจับสลากได้หน้าที่เข้าไปในพระวิหารของพระเจ้าเพื่อถวายกำยาน  นอก จากนั้น มธ 2:1-11 ได้กล่าวถึงโหราจารย์จากทิศตะวันออกนำทองคำ กำยาน และมดยอบมาถวายแด่พระกุมารเยซู

         ในยุคแรกของคริสตชนในพระศาสนจักรตะวันตกยังไม่มีการนำกำยานมาใช้ในพิธีกรรม  เนื่อง
จากในสมัยนั้นคนต่างศาสนาในกรุงโรมใช้กำยานเพื่อถวายคารวะบรรดาเทพเจ้าและจักรพรรดิ  โดย
เฉพาะอย่างยิ่งก่อนศตวรรษที่ 4  ที่การถวายกำยานแก่เทพเจ้าหรือจักรพรรดิเป็นเครื่องหมายถึงการ
ละทิ้งศาสนาของคริสตชน

         ในสมัยจักรพรรดิคอนสตันตินในศตวรรษที่ 4 เมื่อคริสตศาสนาเป็นที่ยอมรับในอาณาจักรโรมัน และไม่มีการบังคับให้คริสตชนถวายกำยานแก่เทพเจ้าหรือจักรพรรดิอีกต่อไป  พระศาสนจักรตะวันตกจึงเริ่มใช้กำยานในพิธีกรรม  ส่วนพิธี
กรรมของพระศาสนจักรตะวันออกในสมัยเดียวกัน เช่นที่กรุงเยรูซาเล็มก็มีการใช้กำยานด้วย   (จากบันทึกการแสวงบุญในดินแดนศักดิ์สิทธิ์
ของ Egeria 24:10)
ความหมายของกำยาน
           กฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน ข้อ 276 ได้ให้ความหมายของการถวายกำยานว่า เป็นการ
แสดงความเคารพและหมายถึงคำภาวนา ดังที่มีกล่าวในพระคัมภีร์

         
“ขอให้คำภาวนาของข้าพเจ้าเป็นดั่งกำยานเฉพาะพระพักตร์พระองค์”   (สดด 140:2)

         
“ทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งถือถาดทองคำสำหรับเผากำยานถวายมายืนอยู่หน้าพระแท่นบูชา ทูตสวรรค์
องค์นี้ได้รับกำยานมา เพื่อถวายร่วมกับคำอธิษฐานภาวนาของผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายบนพระแท่นทองคำ ซึ่งอยู่หน้าพระบัลลังก์  ควันของกำยานจากมือของทูตสวรรค์พร้อมกับคำอธิษฐานภาวนาของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์
ลอยขึ้นไปเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า”
 (วว 8:3-4)

         นอกจากนั้นกลิ่นหอมของกำยานที่เผา ยังสร้างบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ความสง่างามและบรรยากาศแห่งการฉลองในพิธีกรรม
การใช้กำยานในพิธีมิสซา
         กฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน ข้อ 276 กล่าวว่า “อาจใช้กำยานได้ตามความสมัครใจในการถวายบูชามิสซาแบบใด ๆ ก็ได้”
         1.ขณะที่ถือหม้อไฟใสกำยานเดินเป็นขบวนแห่เข้ามาในวัดและเมื่อเริ่มมิสซา ถวายกำยานแก่ไม้กางเขนและพระแท่นบูชา ให้ความห มายถึงการเคารพต่อสถานที่ ต่อบุคคล และต่อพระแท่นเอง นอกจากนั้นยังให้ความหมายถึงบรรยากาศของการฉลองและความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เริ่มพิธีกรรม


         2.การถวายกำยานแด่พระวรสาร เริ่มนำมาใช้ในพิธีกรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เป็นเครื่องหมายถึงการถวายเกียรติ และคารวะต่อพระ
คริสตเจ้าที่เรากำลังตั้งใจฟังพระดำรัสของพระองค์




         3.การถวายกำยานแก่เครื่องบูชา ได้แก่ แผ่นปังและถ้วยกาลิกษ์ที่วางไว้บนพระแท่น มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 เป็นเครื่องหมายว่า “การถวายบูชาและคำภาวนาของพระศาสนจักรขึ้นไปเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า” ต่อจากนั้นพระสงฆ์ซึ่งมีหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์และสัตบุรุษซึ่งมีศักดิ์ศรี
เพราะได้รับศีลล้างบาป อาจรับการถวายกำยานจากสังฆานุกรหรือผู้ช่วยพิธีกรรม (กฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน ข้อ 75) นอกจากนี้ก ารถวายกำยานต่อพระสงฆ์และสัตบุรุษยังเป็นเครื่องหมายว่า ตัวบุคคลอันประกอบด้วยพระสงฆ์และสัตบุรุษรวมกันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันกับ “ของถวาย” บนพระแท่น คือ องค์พระคริสตเจ้า มอบถวายแด่พระบิดาเจ้า




         4.การถวายกำยานแด่ศีลมหาสนิทขณะพระสงฆ์ชูแผ่นศีลและถ้วยกาลิกษ์ในภาคเสกศีล หมายถึงการถวายคารวะแด่องค์พระคริตเจ้าผู้ ประทับอยู่ในศีลมหาสนิท การปฏิบัตินี้มีมาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 13

ผู้กลับใจ