29 มิถุนายน 2555

พระนามพระเจ้าในพันธสัญญาเดิม

พระนามของพระเจ้าและความหมาย
ทั้ง 16 พระนามในพันธสัญญาเดิม

ภาษาฮีบรู
ภาษาอังกฤษ
ภาษาไทย
ข้อพระคัมภีร์
1. Jehovah Elohim
    เยโฮวาห์เอโลฮิม
The eternal creator
พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างและนิรันดร์กาล
ปฐมกาล 2:4-25
2. Adonai Jehovah
    อาโดนาย เยโฮวาห์
The Lord our  Sovereign,
Master Jehovah
พระเจ้าผู้ครอบครอง
เป็นพระเจ้าสูงสุด
ปฐมกาล 15:2, 8
3. Jehovah Jireh
   เยโฮวาห์ยิเรย์
The Lord will see or provide
พระเจ้าผู้ทรงจัดเตรียมจัดหาทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเรา
ปฐก.22:8-14,
ฟิลิปปี 4:19
4. Jehovah Nissi
    เยโฮวาห์ นีสสี
The Lord our  banner
พระเจ้าผู้ทรงเป็นธงของเรา
อพยพ 17:15
5. Jehovah Ropheka
    เยโฮวาห์ โรฟีก้า
The Lord our healer
พระเจ้าเป็นแพทย์
ผู้ประเสริฐของเรา
อพย. 15:26, สดุดี 103:2-5,
มธ. 8:17, อสย. 53:45,
1ปต. 2:24, มก.16:18
6. Jehovah Shalom
    เยโฮวาห์ ชาโลม
The Lord our peace
พระเจ้าคือสันติสุขของเรา
ผู้วินิจฉัย 6:24,
ยอห์น 14:27
7. Jehovah Tsidkeenu
    เยโฮวาห์ ชิเคนู
The Lord our  Righteousness
พระเจ้าทรงเป็นความชอบธรรมของเรา
ยรม.23:6, 33:14-16
2 คร. 5:21, รม. 6:18
8. Jehovah Mekaddishkem
    เยโฮวาห์ เม็คกะดิชเคม
The Lord our Sanctifier
พระเจ้าผู้ทรงชำระให้บริสุทธิ์  ผู้ทรงเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปแทนเรา
อพย. 31:13, ลวน 20:8,
21:8, 22:9, 16, 32
9. Jehovah Saboath
    เยโฮวาห์ ซาโบท
The Lord of hosts
พระเจ้าจอมโยธาเป็นพระเจ้าของเรา
                  1 ซามูเอล 1:3
10. Jehovah Shammah
      เยโฮวาห์ ชามาห์
The Lord is present
พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเราในปัจจุบัน
อสค. 48:35, มธ. 1:23,
สดุดี 46:1
11. Jehovah Elyon
      เยโฮวาห์ เอลย่อน
The Lord most high
พระเจ้าผู้สูงสุด
สดุดี 7:17, 42:2, 97:7
12. Jehovah Rohi
      เยโฮวาห์ โรฮี
The Lord my shepherd
พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยง
ของเรา
            สดด.23:1, 1 ปต.5:4,2:25,
                  ยน.10:11-18
13. Jehovah Hoseenu
     เยโฮวาห์ โฮซีนุ
The Lord our Maker
พระเจ้าผู้ทรงสร้างเรา
สดด.95:6
14. Jehovah Eloheenu
      เยโฮวาห์ เอโลฮีนุ
The Lord my God
พระเจ้าผู้ทรงเป็นพระเจ้าของเรา
สดุดี 99:5, 8, 9
15. Jehovah Eloheka
      เยโฮวาห์เอโลเฮกา
The Lord my God
พระเจ้าผู้ทรงเป็นพระเจ้าของทุกคน
อพยพ 20:2, 5, 7
16. Jehovah Elohay
      เยโฮวาห์ เอโลเฮ
The Lord my God
พระเจ้าผู้ทรงเป็นพระเจ้าของฉัน
เศคาริยาห์ 14:5

25 มิถุนายน 2555

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2012 สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา พระวรสารนักบุญมัทธิว มธ 7:1-5




วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2012
สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารนักบุญมัทธิว
มธ 7:1-5


          เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า“อย่าตัดสินเขา และท่านจะไม่ถูกพระเจ้าตัดสิน ท่านตัดสินเขาอย่างไร พระเจ้าจะทรงตัดสินท่านอย่างนั้น ท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าจะทรงใช้ทะนานนั้นตวงให้ท่าน ทำไมท่านจึงมองดูเศษฟางในดวงตาของพี่น้อง แต่ไม่สังเกตเห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเลย ท่านจะกล่าวแก่พี่น้องได้อย่างไรว่า ‘ปล่อยให้ฉันเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของท่านเถิด’ ขณะที่มีท่อนซุงอยู่ในดวงตาของท่าน ท่านคนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย จงเอาท่อนซุงออกจากดวงตาของท่านก่อนเถิด แล้วจะได้เห็นชัดก่อนไปเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของพี่น้อง




ข้อคิด
          จากบทอ่านที่หนึ่ง กษัตริย์แห่งอัสซีเรียยกทับมายึดกรุงสะมาเรียและกวาดต้อนประชาชนไปเป็นเฉลยศึก เพราะพวกเขาได้ทำบาปผิดต่อพระเจ้า คือเมื่อพระเจ้านำพวกเขาออกจากการเป็นทาษของอียิปต์... แต่อิสราแอลกลับไปนมัสการเทพเจ้าของชนชาติที่พระองค์ขับไล่ออกไป หลังจากอิสราแอลได้เข้าไปอยู่... เมื่อเราต้องเผชิญกับทรัพย์สินหรือบุคคลที่เราชอบ หลายครั้งชอบจนลืมพระเจ้าก็มี หรือจัดให้พระองค์เป็นอันดับรองลงมา... แบบนี้ก็ไม่ต่างกับพวกอิสราแอลเท่าไร


วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2012 สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา บทอ่านจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่สอง 2 พกษ 17:5-8,13-15ก,18


วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2012
สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา


บทอ่านจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่สอง 
2 พกษ 17:5-8,13-15ก,18



          กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงยกทัพมารุกรานแผ่นดินทั้งหมด เสด็จมาถึงกรุงสะมาเรียและทรงล้อมเมืองเป็นเวลาสามปี ปีที่เก้าในรัชกาลกษัตริย์โฮเชยา กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทรงยึดกรุงสะมาเรียได้ ทรงกวาดต้อนชาวอิสราเอลไปเป็นเชลยที่อัสซีเรีย ให้ตั้งหลักแหล่ง บางส่วนอยู่ที่เมืองฮาลาห์ บางส่วนอยู่ที่แม่น้ำฮาโบร์ในแคว้นโกซาน บางส่วนอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ของชาวมีเดีย


          เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะชาวอิสราเอลทำบาปผิดต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของตน พระองค์ทรงนำเขาออกจากแผ่นดินอียิปต์ พ้นจากอำนาจของพระเจ้าฟาโรห์แห่งอียิปต์ แต่เขากลับไปนมัสการเทพเจ้าอื่น ปฏิบัติตามประเพณีของชนชาติที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขับไล่ออกไปเมื่อชาวอิสราเอลเข้ามาอาศัยอยู่ และปฏิบัติตามประเพณีต่าง ๆ ที่กษัตริย์แห่งอิสราเอลทรงนำเข้ามา


         องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้บรรดาประกาศกและผู้ทำนาย มาเตือนชาวอิสราเอลและชาวยูดาห์ว่า “จงละทิ้งหนทางชั่วร้ายของท่าน จงปฏิบัติตามบทบัญญัติและข้อกำหนด ดังที่มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติที่เรามอบให้แก่บรรพบุรุษของท่าน และตกทอดมาถึงท่านทางบรรดาประกาศกผู้รับใช้ของเรา” แต่เขาไม่ยอมเชื่อฟัง มีจิตใจดื้อรั้นเหมือนบรรพบุรุษซึ่งไม่ยอมเชื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของตน ดูหมิ่นข้อกำหนดและพันธสัญญาซึ่งพระองค์ทรงกระทำกับบรรพบุรุษของเขา


          องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระพิโรธชาวอิสราเอลอย่างยิ่ง และทรงผลักไสเขาให้พ้นจากพระพักตร์พระองค์ เหลือไว้แต่เผ่ายูดาห์เท่านั้น




24 มิถุนายน 2555

นักบุญยอห์น แบปติสต์ บังเกิด 24 มิถุนายน


นักบุญยอห์น แบปติสต์ บังเกิด
 
นักบุญ ยอห์น แบปติสต์ เป็นบุตรชายของท่านเศคาริยาห์ ผู้เป็นใบ้และนางเอลิซา เบธ ผู้เป็นหมัน การบังเกิดมาของท่านยอห์น     แบปติสต์เป็นการประกาศให้ทราบว่าสมัยของพระแมสซีอาห์กำลังจะมาถึงแล้ว และในสมัยของพระแมสซียาห์นี้ ผู้ที่เป็นหมันจะมีลูกดกและผู้ที่เป็นใบ้จะกลายเป็นประกาศก

พระวรสารได้เติมชื่อเรียก “แบปติสต์” ให้ท่านก็เพราะว่าท่านได้ประกาศพิธีล้างแบบใหม่ ( มธ. 3: 13-17 ) ซึ่งในพิธีนี้ผู้มาขอรับ พิธีล้างไม่ต้องจุ่มตัวลงไปแช่ในน้ำเหมือนกับในพิธีล้างของพวกยิว แต่ให้รับน้ำจากท่อธารจากมือของศาสนบริกรคือผู้ประกอบพิธี และดังนี้ท่านยอห์นต้องการจะสอนเราว่ามนุษย์เราไม่สามารถที่จะชำระตนให้สะอาดบริสุทธิ์ได้โดยลำพังตนเอง แต่ว่าความศักดิ์สิทธิ์นั้นมาจากพระเจ้า

ท่านยอห์น แบปติสต์ เป็นผู้ทำพลีกรรมใช้โทษบาปมาก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ที่ท่านได้เริ่มใช้วินัยนี้เวลาที่ท่านเจริญชีวิตอยู่ในกลุ่มนัก บวชในถิ่นทุรกันดาร แต่อย่างไรก็ตามธรรมประเพณีชวนเราให้ระลึกถึงลักษณะของการเป็นประกาศกของท่านมากกว่า ท่านเป็นประกาศกในสองตำแหน่งด้วยกันและเป็นต้นท่านเป็นประกาศกในใจความของพระธรรมเก่า ท่านยอห์นเป็นประกาศกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาประกาศกทั้งหลายของชนชาติอิสราแอล ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าท่านสามารถชี้ให้เห็นเป้าหมายของคำพยากรณ์ต่างๆ (มธ.11: 17-15 ; ยน.1: 19-28 ) และเพื่อเป็นเครื่องหมายชี้แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นประกาศกที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ตามแบบของบรรดาประกาศกที่ยิ่งใหญ่ในพระธรรมเก่า นักบุญ ลูกา ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องการบังเกิดมาของท่านโดยแสดงให้เราเห็นถึงภูมิหลังของกระแสเรียกที่สำคัญๆ ของบรรดาประกาศกในสมัยพระธรรมเก่า

ประกาศกมิใช่เป็นเพียงแต่ผู้ที่แจ้งข่าวถึงพระแมสซียาห์ในอนาคตเท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือเป็นผู้นำเอาพระวาจาของพระเจ้าไปประกาศและเป็นองค์พยานยืนยันว่าพระวาจาที่สร้างสรรค์นี้อยู่ท่ามกลางพวกเรา อยู่ในโลกที่ได้รับการสร้างใหม่จากพระเจ้า





ทุกๆ ครั้งที่เรามาร่วมถวายบูชามิสซา  พระวาจาของพระเจ้าก็ประกาศซ้ำ  สิ่งที่ท่านยอห์น  แบปติสต์  ได้ประกาศเตือนพวกเขาชาวยิวที่ฝั่งแม่น้ำยอร์แดนคือ “ขอให้พวกท่านได้กลับใจ” เรื่องเล่าถึงการรับประทานอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระคริสตเจ้าซึ่งมีบทสวดเสกศีล อยู่ด้วย และเป็นข้อความตอนหนึ่งของพระวรสารนั้นน่าจะต้องทำให้เราได้ถามตัวเราเองว่า “เราต้องทำอะไร” ( กจ. 2:37 ) คำตอบของพระคริสตเจ้า พระองค์ผู้ได้ถวายร่างกายและหลั่งพระโลหิตเพื่อเราคือว่า “พวกท่านจงทำสิ่งนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงเราเถิด”

ชีวิตและการเป็นมรณสักขีของท่านยอห์น  แบปติสต์  ก็เป็นการตอบสนองคำเชื้อเชิญของพระเยซูเจ้าที่ให้ติดตามพระองค์ไปจนถึง ที่สุด และมี คริสตชนจำนวนนับไม่ถ้วนที่ได้ปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านโดยได้พลีชีวิตและหลั่งเลือดเพื่อพระคริสตเจ้า เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์

23 มิถุนายน 2555

23 มิถุนายน นักบุญยอห์น พิชเชอร์ และ นักบุญโทมัส โมร์

นักบุญยอห์น พิชเชอร์ 

นักบุญยอห์น ฟิชเชอร์ เกิดที่เมืองยอร์คเชียร์ในประเทศอังกฤษ เป็นนักศึกษาก่อน แล้วมาเป็นอาจารย์ และที่สุดก็เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ท่านเป็นคนที่มีความรู้สูง เป็นนักมนุษยนิยม (Humanist) ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสังฆราชของเมืองโรเชสเตอร์ ชีวิิตของท่านเด่นเป็นพิเศษในเรื่องการถือความยากจน ความศรัทธาภักดีชีวิตที่เคร่งครัดบำเพ็ญตบะ ความมีใจร้อนรนในเรื่องการอภิบาลสัตบุรุษ ท่านเป็นผู้ที่มีความเชื่อที่ไม่หวั่นไหว ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากงานเขียนต่าง ๆที่ท่านได้เขียนขึ้นต่อสู้กับพวกเฮเรติกในสมัยของท่าน




นักบุญโทมัส โมร์
ส่วน นักบุญ โทมัส โมร์ เกิดที่กรุงลอนดอน และได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้เป็นอาจารย์สอนกฏหมาย ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา และได้มีตำแหน่งสำคัญในกิจการสาธารณะของประเทศอังกฤษ ต่อมาท่านได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 เช่นเดียวกับนักบุญ ยอห์น ฟิชเชอร์ ท่านได้้ใช้ปากกาของท่านเขียนหนังสือต่อสู้กับพวกเฮเรติกซึ่งกำลังคุกคามพระศาสนจักรอยู่ ท่านเป็นคนที่มีนิสัยดี น่ารักใจดี และกล้าหาญ รักบ้านและรักธรรมประเพณีต่างๆท่านเป็นคนตรงไม่ยอมอ่อนข้อหรือประนีประนอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

นักบุญทั้งสองไม่ยอมสนับสนุนเรื่องการหย่าของกษัตริย์และการที่พระองค์จะตั้งตัวเองขึ้นเป็นหัวหน้าของพระศาสนจักรในประเทศอังกฤษ พระสังฆราชนักบุญ ยอห์น ฟิชเชอร์ ได้คัดค้านกษัตริย์ในเรื่องนี้ ส่วนรัฐบุรุษนักบุญ โทมัส โมร์ ถึงกับได้ยอมสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อกษัตริย์เฮนรี่ได้แยกตัวเอาพระศาสนจักรของประเทศอังกฤษออกจากพระศาสนจักรที่กรุงโรม ท่านทั้งก็ถูกจับขังไว้ในหอคอยของกรุงลอนดอน ท่านเป็นพยานยืนยันถึงความเชื่อจนถึงที่สุด และถูกตัดศีรษะเป็นมรณสักขี

เขาเล่ากันว่าเซอร์โทมัส โมร์ แม้่กำลังจะต้องตายเป็นมรณสักขีก็ยังมีอารมณ์ขันแบบชาวอังกฤษอยู่ ท่านได้หยอกล้อเล่นกับเพชฌฆาตจนกระทั่งถึงวินาทีสุดท้าย นี่แหละเป็นลีลาของบรรดาอัครธรรมทูต ซึ่งกลับมาจากสภาสูงของพวกยิวพลางโลดเต้นยินดี “พวกเขารู้สึกเป็นเกียรติและมีความสุขในการที่ได้ทนสบประมาทเพราะรักพระเยซูคริสตเจ้า” (กจ 5:41) และที่จริงความโลดเต้นยินดีนี้น่าจะเป็นลักษณะพิเศษสำหรับกลุ่มคริสตชนที่ได้มาร่วมกันถวายบูชามิสซา เพราะในบูชามิสซานี้ที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เราเป็นยัญบูชานิรันดร์อันสบพระทัยพระบิดาเจ้า และเราเองก็ได้่้รับการเลี้ยงดูด้วยปัง ด้วยจิตใจที่ร่าเริงยินดีและซื่อๆ (กจ 2:46)


คำภาวนาทูลขอและข้อปฏิบัติ

1. ขอให้บรรดานายชุมพาบาลและนักการเมืองที่เป็นคริสตชน อย่าได้ยอมทำการประนีประนอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
2. ขอให้ทุกคนได้คืนสิ่งที่เป็นของกษัตริย์ให้แก่กษัตริย์ และคืนสิ่งที่เป็นของพระเจ้าให้แก่พระเจ้า
3. ขอให้การทนทุกข์ยากลำบากจงเป็นความภูมิใจและท่อธารแห่งความชื่นชมยินดีของเรา

นักบุญ คือใคร Saints


          นักบุญ คือบุคคลที่ขณะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ได้ดำเนินชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อ ในพระศาสนาอย่างสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ และเมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว พระศาสนจักรก็ได้ยกย่อง สดุดีคุณงามความดีต่างๆ ที่ท่านเหล่านั้นได้กระทำไว้ โดยถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่าง ที่เราสามารถเลียนแบบได้ และถือว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่เราสามารถเคารพ นับถือ และสวดวิงวอนขอพรจากพระเจ้า ผ่านท่านได้ เพราะเชื่อว่าท่านมีชีวิตนิรันดร อยู่ร่วมกับพระคริสตเจ้า ในสรวงสวรรค์แล้วนั่นเอง



ประวัติความเป็นมาของ คำว่า "นักบุญ" 

          ใน 6 ศตวรรษแรกๆ ของพระศาสนจักรนั้น นักบุญ คือผู้ที่ได้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อของตน สาเหตุก็เพราะว่าในสมัยนั้น คริสตศาสนายังถูกเบียดเบียน และข่มแหงอยู่มาก บรรดาคริสตชนหลายต่อหลายคน ได้ถูกจับไปประหารชีวิต เพราะเป็นคริสตชนหรือไม่ยอมทิ้งศาสนา 
คริสตชนที่พลีชีพ เพื่อประกาศความเชื่ออย่างเด็ดเดี่ยวเช่นนี้ เรียกว่า "มรณสักขี หรือมาร์ตีร์" (Martyr) ถือว่าเป็น   ชีวิตคริสตชนตัวอย่าง เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสตชนในยุคแรกๆ นั้น ต่างก็ยกย่องสดุดีให้ความเคารพ นับถือ และศรัทธาต่อท่านเหล่านั้นเป็นอันมาก จึงได้มีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อแสดงถึงความเคารพ และระลึกถึงท่าน เช่นการเคารพหลุมฝังศพ การสวดวิงวอน และการประกอบพิธี บนหลุมฝังศพของท่าน เป็นต้น
          ต่อมาเมื่อคริสตศาสนาได้รับการยอมรับ และกลายเป็นศาสนาประจำชาติโรมัน การเบียดเบียนจึงลดลง คราวนี้คนที่จะพลีชีพเพื่อศาสนาก็มีจำนวนลดน้อยตามไปด้วย ดังนั้น การเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญ ไม่จำเป็นว่าต้องตายเพื่อศาสนาเสมอไป แต่ชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อ และดำเนินไปตามพระบัญญัติ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ ก็น่าจะได้รับการยกย่อง ว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญได้ด้วย 
          ตั้งแต่นั้นมา การเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์ จึงเริ่มขยับขยายออกไปยังคริสตชนอื่นๆ ที่เจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ ยึดมั่นในพระธรรมคำสอน และปฏิบัติคุณงาม ความดีอย่างเคร่งครัด บางคนเด่นในการบำเพ็ญพรตบำเพ็ญตบะ บางคนเด่นในการเผยแผ่พระศาสนา บางคนเด่นในด้านการมีความรอบรู้ ในพระสัจธรรม หรือเป็น นักปราชญ์ และบางคนก็เด่นในด้านมีเมตตาจิต อุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ได้รับยกย่องว่าเป็น "ธรรมสักขี" (Confessors)



วิวัฒนาการการแต่งตั้งนักบุญ 

          ในช่วงศตวรรษที่ 6 - 10 ยังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เกี่ยวกับการแต่งตั้งใครคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์   หรือ   นักบุญ วิธีที่ใช้ตัดสินก็คือ การดูจากจำนวนคน ที่เคารพนับถือและศรัทธา จำนวนคนที่ไปเยี่ยมหลุมฝังศพ และได้รับความช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินแบบนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความแคลงใจ ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของคนนั้นคนนี้อยู่เสมอๆ 
         ดังนั้น พระศาสนจักรจึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ ให้ชัดเจนขึ้นว่า บุคคลใดควรอยู่ในข่าย ได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างแท้จริง
         โดยในระยะแรกๆ นั้น ขึ้นอยู่กับพระสังฆราช หรือประมุขคริสตชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 12 การอนุมัติเรื่องนี้ ต้องขึ้นกับพระสันตะปาปา แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้เพื่อจะเป็นหลักประกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่บุคคลผู้นั้นนั่นเอง
          จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1642 พระสันตะปาปาอูบาโนที่ 8 จึงได้ออกสมณกฤษฎีกา ว่าด้วยกฎเกณฑ์และวิธี การดำเนินการแต่งตั้งนักบุญขึ้น ต่อมาในสมัยของ พระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จนกระทั่งล่าสุด ในปี ค.ศ. 1930 พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 จึงได้ทรงโปรดให้มีการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
          ปัจจุบันได้มีสมณกระทรวง ว่าด้วยการประกาศแต่งตั้งนักบุญโดยเฉพาะ ซึ่งก็แยกส่วนออกมาจาก สมณกระทรวงพิธีกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เกี่ยวกับคำร้อง และพิธีการดำเนิน การประกาศแต่งตั้งนักบุญ ทั่วพระศาสนจักรสากล โดยตรง



ขั้นตอนการแต่งตั้งให้เป็นนักบุญ

1. "บุญราศี" (Beatification)
          เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่ประชาชนยอม รับว่า เป็นคริสตชนตัวอย่างได้สิ้นชีวิตลง แล้วก็ปรากฎว่า มีผู้ได้รับผลจากการสวดวิงวอน ขอความช่วยเหลือจากท่าน พระสังฆราชท้องถิ่นนั้นๆ ก็จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น ประวัติของผู้ตาย และอัศจรรย์ต่างๆ ที่มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีข้อมูลที่แน่นอน และเป็นหลักฐานชัดเจน จากนั้นจึงรวบรวมเรื่องส่งไปยัง สมณกระทรวง ว่าด้วยการสถาปนานักบุญที่โรม เพื่อให้ดำเนินการสอบสวน จนเห็นสมควร จึงประกาศให้เป็นบุคคลที่ควรเคารพยกย่อง หรือ "คารวียะ"
          แต่ก่อนที่จะได้รับประกาศเป็นนักบุญราศีนั้น ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่า มีอัศจรรย์อย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น โดยอาศัยบุญบารมีของ "คารวียะ" (ในกรณีของมรณสักขี หรือผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา ความตายของเขา ก็ถือว่าเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ สามารถใช้แทนอัศจรรย์สองประการที่กำหนดนี้ได้)

2. "นักบุญ" (Canonization)
          หลังจากได้รับสถาปนาเป็นบุญราศีแล้ว ก่อนที่จะประกาศแต่งตั้งเป็น "นักบุญ" จะต้องมีผู้ได้รับอัศจรรย์ โดยคำวิงวอนของท่านบุญราศีผู้นั้นอีก อย่างน้อย 2 ประการ ซึ่งการคอยอัศจรรย์ขั้นนี้ อาจจะยาวนานหลายปี บางรายกินเวลาเป็นศตวรรษก็มี
         เมื่อผ่านขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ก็จะมีพิธีการประกาศแต่งตั้งบุญราศีองค์นั้น ขึ้นเป็น "นักบุญ" โดยพระสันตะปาปา ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ กรุงโรม เป็นพิธีที่สง่างามน่าประทับใจที่สุดพิธีหนึ่ง ที่ทางพระศาสนจักรจัดขึ้น เพราะการประกาศ สถาปนาบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นนักบุญ ย่อมหมายถึงเกียรติขั้นสูงสุด ที่คริสตชนคนหนึ่งพึงจะได้รับ โดยท่านผู้นั้น จะได้รับการประกาศ ชนิดที่พระศาสนจักรใช้เอกสิทธิ์ ความไม่รู้ผิดพลั้งของสมเด็จพระสันตะปาปา มาเป็นหลักประกัน ความจริง ท่านจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวคาทอลิกทั่วโลก และชื่อของท่านผู้นั้น ก็จะได้รับการบันทึกไว้ ในบัญชีสารบบนักบุญ ตลอดไปชั่วกาลนาน

22 มิถุนายน 2555

มานาประจำวัน ~ เวลาที่ควรเงียบ

แต่พระเยซูทรงนิ่งอยู่ท่านมหาปุโรหิตจึงว่า
“…ให้บอกเราว่าท่านเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าหรือไม่” -มัทธิว26:63


จะมีเวลาไหนบ้างที่คริสเตียนไม่ควรพูดเรื่องของพระเจ้า? น่าจะมี เช่น เวลาที่เผชิญหน้าเรื่องความเชื่อกับคนที่เสแสร้ง การเงียบอาจจะเป็นการตอบสนองที่ดีที่สุดก็ได้ ในเหตุการณ์ที่พระเยซูทรงโต้ตอบกับคายาฟาส พระองค์ทรงเลือกที่จะเงียบในตอนแรก(มธ.26:63) พระองค์ทรงทราบว่าคายาฟาสไม่ได้สนใจอยากรู้ข้อเท็จจริง(มธ.26:59) เราไม่อาจล่วงรู้ใจของคนอื่นได้เสมอไป เราจึงต้องไวต่อการทรงนำขอพระวิญญาณในทุกสถานการณ์เพื่อเรา “จะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคน”(คส.4:6)

นอกจากนี้ หากคำตอบจะทำให้โต้แย้งยืดเยื้อไม่จบสิ้นหรือยิ่งทำให้ห่างไกลพระเจ้า เราน่าจะหยุดบทสนทนานั้น แล้วค่อยว่ากันใหม่วันหลัง

ยังมีเวลาอื่นอีกไหมที่การเงียบอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด? หากการพูดเรื่องความเชื่อทำให้เราหรือเพื่อนร่วมงานไขว้เขวไปจากการงานของเรา เราควรจะมีสมาธิกับการทำงาน หรือหากคนฟังต่อต้านอยู่เรื่อยๆ เราอาจจะต้องหยุดตามตื้อเขา ขอให้จำไว้ว่า เราจะเป็นพยานในเรื่องพระคุณของพระเจ้าได้ด้วยการกระทำของเราเช่นกัน (1 ปต.3:1-2) – RK

ข้าแต่พระเจ้าที่รัก เราปรารถนาที่จะเป็นพยานเพื่อพระองค์
ขอโปรดประทานสติปัญญาให้เรารู้ว่าเมื่อใดเราควรจะพูดหรือไม่ควรพูด
และจะพูดอะไรและไม่พูดอะไร ขอบพระคุณพระวิญญาณบริสุทธิ์
ที่ทรงนำเราวันนี้

การเงียบอาจเป็นเครื่องมือในการประกาศอย่างหนึ่ง




ฉันจะทำตามน้ำพระทัยพระเจ้าได้อย่างไร?


ในการ “ทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า” นั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า.. อะไรเป็นสิ่งที่พระเจ้า “ ไม่ทรงพอพระทัย ” คำตอบก็คือ ความบาป “ ไม่มีสักคนเดียวที่ทำดี ไม่มีเลย” (สดุดี 14:3) เราได้กบฏต่อพระบัญญัติของพระองค์ “เราทุกคนได้เจิ่นไปเหมือนแกะ” (อิสยาห์ 53:6) 

ข่าวร้ายก็คือ โทษของความบาปคือความตาย “...ชีวิตใดทำบาปก็จะตาย” (เอเสเคียล 18:4) ข่าวดีก็คือ พระเจ้าแห่งความรักทรงตามเรากลับมา และไถ่เราให้รอดจากบาป พระเยซูทรงประกาศถึงพระประสงค์ของพระองค์ว่า พระองค์มาเพื่อ “เที่ยวหาและช่วยผู้ที่หลงหายไปนั้นให้รอด” (ลูกา 19:10) และพระองค์ทรงประกาศว่าพันธกิจของพระองค์จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนด้วยคำพูดที่ว่า “สำเร็จแล้ว!” (ยอห์น 19:30)

การมีสายสัมพันธ์อย่างถูกต้องกับพระเจ้าเริ่มต้นด้วยการยอมรับในความบาปของคุณ แล้วเข้ามาสารภาพบาปอย่างถ่อมสุภาพกับพระเจ้า (อิสยาห์ 57:15) และตัดสินใจที่จะละทิ้งความบาปนั้น “...การยอมรับสัจจะของพระเจ้าด้วยปากก็นำไปสู่ความรอด” (โรม 10:10)

การกลับใจใหม่นั้นต้องมีความเชื่อด้วย โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องการสละพระชนม์ของพระเยซู และการฟื้นขึ้นมาใหม่อย่างอัศจรรย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคุณอย่างแท้จริง “คือว่าถ้าท่านจะรับด้วยปากของท่านว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อในจิตใจว่า พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ท่านจะรอด” (โรม 10:9) มีข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่กล่าวถึงความจำเป็นเรื่องของความเชื่อ เช่นใน พระธรรม ยอห์น 20:27; กิจการ 16:31; กาลาเทีย 2:16; 3:11, 26; เอเฟซัส 2:8

การทำตามน้ำพระทัยพระเจ้านั้น เป็นเรื่องของการตอบสนองต่อสิ่งที่พระเจ้าทรงทำให้คุณ พระองค์ทรงประทานพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ประทานเครื่องบูชาเพื่อรับความบาปผิดไปจากเรา (BB. ยอห์น 1:29) และพระองค์ทรงให้พันธสัญญาว่า “ทุกคนซึ่งได้ออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะรอด” (BB. กิจการ 2:21) 

ภาพอันสวยงามที่บรรยายถึงเรื่องของการกลับใจและการยกโทษ เปรียบได้กับเรื่องบุตรชายที่หลงหายไปแล้วกลับใจใหม่ (พระธรรม ลูกา 15:11-32) บุตรคนเล็กนั้นได้ผลาญทรัพย์สมบัติที่พ่อให้มาด้วยความบาปที่น่าละอาย (ข้อ 13) และเมื่อเขาสำนึกผิดในสิ่งที่เขาทำไปลง เราก็ตัดสินใจกลับมาบ้าน (ข้อ 18) เขาคิดว่าเขาไม่สมควรจะเป็นลูกของพ่ออีกต่อไป (ข้อ 19) แต่เขาคิดผิด พ่อเขากลับรักลูกที่กลับใจใหม่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีก (ข้อ 20) ทุกสิ่งที่ลูกทำลงไปได้รับการอภัยหมดทั้งสิ้น และเขาก็จัดงานเลี้ยงฉลองกันขึ้น (ข้อ 24) พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อต่อพระสัญญาของพระองค์ รวมถึงพระสัญญาที่จะยกโทษให้ “พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ผู้ที่จิตใจฟกช้ำ และทรงช่วยผู้ที่จิตใจสำนึกผิด” (สดุดี 34:18) 


18 มิถุนายน 2555

วิธีจารึกชื่อเราในพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสตเจ้า

วิธีจารึกชื่อเราในพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสตเจ้า




พระมหาไถ่ของเราทรงสัญญากับนักบุญมาร์กาเรทแมรี่ว่า ผู้ใดเผยแพร่ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ผู้นั้นจะได้รับการจารึกชื่อในดวงใจของฉันตลอดกาล” นี่แหละคือพระพรยิ่งใหญ่ เราสามารถเผยแพร่อย่างง่ายดายโดยการแจกบทสวดนี้กับคริสตชนและชักชวนเขาสวดบทนี้เสมอ ๆ


นพวารพระหฤทัยพระเยซู
โอ้ พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซู บ่อเกิดแห่งพระพรทุกประการ
ข้าพเจ้านมัสการพระองค์ ข้าพเจ้ารักพระองค์
ด้วยความทุกข์ถึงบาป ข้าพเจ้าขอถวายพระองค์ดวงใจน่าสมเพชของข้าพเจ้า
โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นคนสุภาพถ่อมตน อดทน บริสุทธิ์
และนบนอบน้ำพระทัยของพระองค์

โอ้ พระเยซู องค์ความดีบริบรูณ์
โปรดให้ข้าพเจ้าดำรงชีพในพระองค์และเพื่อพระองค์ 
โปรดคุ้มครองข้าพเจ้าในภัยอันตราย
ปลอบใจข้าพเจ้าในความทุกข์ยาก 
ประทานแก่ข้าพเจ้า สุขภาพ ความช่วยเหลือทางโลก พระพรในทุกกิจการที่ข้าพเจ้าทำ
และพระหรรษทานแห่งการตายดี

ข้าพเจ้าขอฝากทุกสิ่งไว้ในพระหฤทัยและความอารักขาของพระองค์
ในความต้องการทุกชนิด ให้ข้าพเจ้ามาหาพระองค์ด้วยความวางใจอันสุภาพอ่อนโยน
และภาวนาว่า “พระหฤทัยพระเยซู โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด”



คำภาวนาสั้น ๆ อุดมด้วยพระคุณการุณย์พระเยซู องค์พระเมตตา ข้าพเจ้าขอถวายตัวแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระองค์ในวันนี้และตลอดไป
พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซู โปรดให้ข้าพเจ้ารักพระองค์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซู ข้าพเจ้าวางใจในพระองค์ 
พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์รักข้าพเจ้า
พระเยซู พระทัยสุภาพอ่อนโยน โปรดให้ดวงใจของข้าพเจ้าละม้ายคล้ายพระหฤทัยของพระองค์ 
พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู พระอาณาจักรจงมาถึง
พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซู โปรดให้คนบาปกลับใจ โปรดช่วยคนกำลังจะสิ้นใจให้รอด โปรดปลดปล่อยวิญญาณออกจากไฟชำระ

คำภาวนาของคุณแม่เทเรซาต่อพระนางมารีอา


คำภาวนาของคุณแม่เทเรซาต่อพระนางมารีอา

   ข้าแต่นักบุญเทเรซา ช่วยวิงวอนเทอญ   


โอ้ พระนางพรหมจารีมารีอา
โปรดประทานแก่เราดวงใจที่สวยงาม บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน
เหมือนดวงพระทัยของพระแม่ที่เปี่ยมด้วยความรักและความสุภาพถ่อมตน
เราจะได้รับพระเยซู ปังทรงชีวิต
รักพระองค์เหมือนอย่างที่พระแม่ทรงรักพระองค์
รับใช้พระองค์ในใบหน้าของคนจน น่าสงสาร ไม่มีใครเหลียวแล
อาศัยพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของเรา
อาแมน

17 มิถุนายน 2555

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2012 สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา พระวรสารนักบุญมัทธิว มธ 5:38-42


วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2012
สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารนักบุญมัทธิว
มธ 5:38-42


         เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า“ท่านเคยได้ยินเขากล่าวว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า อย่าโต้ตอบคนชั่ว ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย ผู้ใดอยากฟ้องท่านที่ศาลเพื่อจะได้เสื้อยาวของท่าน ก็จงแถมเสื้อคลุมให้เขาด้วย ผู้ใดจะเกณฑ์ให้ท่านเดินไปกับเขาหนึ่งหลัก จงไปกับเขาสองหลักเถิด ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน”


ข้อคิด
          นาโบท มีสวนองุ่นใกล้พระราชวังขอกษัตริย์อาหับ พระองค์เกิดอยากได้ที่ดินอันน้อยนิดของนาโบท แม้จะขอซื้อหรือ ขอแลกที่ดิน อาหับก็ไม่ยอม เพราะเป็นของบรรพบุรุษเอาไปขายไม่ได้ แต่อาหับก็ยังอยากได้... ที่สุดพระมเหสีเยเซเบลออกอุบายฆ่านาโบทจนสำเร็จ แล้วสั่งยึดที่ดินนำมาถวายแด่อาหับ
พูดถึงบาปก็คือพูดถึงความหายนะหรือความตายเสมอ บาปของอาหับและเยเซเบล นำความตายมาสู่ผู้บริสุทธิ์ และ ต่อมาผู้ทำบาปก็ถูกลงโทษด้วย … มิใช่เราจะดีใจ แต่จะเน้นว่า “บาปนำความหายนะและความตาย”มาให้... อย่าให้มันเข้ามา และทำให้ใชีวิตของเราวุ่นวาย



วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2012 สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา บทอ่านจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่หนึ่ง 1 พกษ 21:1-16


วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2012
สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา


บทอ่านจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่หนึ่ง 
1 พกษ 21:1-16



          ต่อมาไม่นาน นาโบทชาวยิสเรเอลมีสวนองุ่นที่เมืองยิสเรเอลใกล้พระราชวังของกษัตริย์อาหับแห่งสะมาเรีย กษัตริย์อาหับตรัสแก่นาโบทว่า “จงยกสวนองุ่นของท่านให้เราทำเป็นสวนผักเถิด เพราะสวนนี้อยู่ใกล้วังของเรา เราจะให้สวนองุ่นที่ดีกว่านี้แทน หรือถ้าท่านยินดีขาย เราจะจ่ายเงินให้ตามราคา นาโบททูลตอบกษัตริย์อาหับว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงห้ามมิให้ข้าพเจ้ายกมรดกของบรรพบุรุษให้พระองค์”

          กษัตริย์อาหับเสด็จกลับพระราชวังด้วยพระทัยขุ่นเคืองและทรงพระพิโรธที่นาโบทชาวยิสเรเอลทูลพระองค์ว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ยกมรดกของบรรพบุรุษให้แก่พระองค์” พระองค์เสด็จเข้าที่พระบรรทม หันพระพักตร์เข้าฝาผนัง ไม่ทรงยอมเสวยพระกระยาหาร พระมเหสีเยเซเบลเสด็จเข้าไปทูลถามว่า “ทำไมพระทัยของพระองค์จึงขุ่นเคืองจนไม่ทรงยอมเสวยพระกระยาหาร” พระองค์ทรงตอบว่า “เพราะเราบอกนาโบทชาวยิสเรเอลว่า “จงยกสวนองุ่นของท่านให้เราเถิด เราจะให้เงิน หรือถ้าท่านพอใจ เราจะให้สวนองุ่นอื่นแทน” แต่เขากลับตอบว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ยกสวนองุ่นให้พระองค์”” พระมเหสีเยเซเบลจึงทูลว่า “พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอลเช่นนี้หรือ ขอทรงลุกขึ้นเสวยพระกระยาหารให้สบายพระทัยเถิด หม่อมฉันเองจะให้สวนองุ่นของนาโบทชาวยิสเรเอลแก่พระองค์”

          พระนางทรงพระอักษรลงพระนามกษัตริย์อาหับ ประทับตราของพระองค์ ส่งไปถึงผู้อาวุโสและบุคคลสำคัญที่อยู่ในเมืองเดียวกับนาโบท พระนางทรงเขียนในลายพระหัตถ์ว่า “ท่านทั้งหลายจงประกาศวันถือศีลอดอาหาร เรียกประชาชนมาชุมนุมกัน และให้นาโบทนั่งอยู่แถวหน้า แล้วจงหาอันธพาลสองคน ให้มานั่งเผชิญหน้านาโบทและกล่าวหาเขาว่า “ท่านสาปแช่งพระเจ้าและกษัตริย์” แล้วท่านทั้งหลายจะนำเขาออกไปนอกเมืองและเอาหินทุ่มเขาให้ตาย”

          คนในเมืองของนาโบท บรรดาผู้อาวุโสและบุคคลสำคัญที่อาศัยอยู่ในเมือง ปฏิบัติตามรับสั่งของพระนางเยเซเบล ที่เขียนไว้ในลายพระหัตถ์ที่พระนางทรงส่งไป ชาวเมืองได้ประกาศวันถือศีลอดอาหาร สั่งให้นาโบทมานั่งแถวหน้าในหมู่ประชาชน อันธพาลสองคนออกมานั่งเผชิญหน้ากับเขา คนอันธพาลกล่าวหานาโบทต่อหน้าประชาชนว่า “นาโบทได้สาปแช่งพระเจ้าและกษัตริย์” เขาจึงนำนาโบทออกไปนอกเมืองและเอาหินทุ่มจนตาย ชาวเมืองส่งข่าวไปทูลพระนางเยเซเบลว่า “นาโบทถูกหินทุ่มตายแล้ว” เมื่อพระนางเยเซเบลทรงได้ยินว่านาโบทถูกหินทุ่มตายแล้ว ก็ทูลกษัตริย์อาหับว่า “ขอทรงลุกขึ้น เสด็จไปยึดครองสวนองุ่นของนาโบทชาวยิสเรเอลเถิด เพราะนาโบทไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป เขาตายแล้ว เขาเคยปฏิเสธไม่ยอมขายให้พระองค์” เมื่อกษัตริย์อาหับทรงได้ยินว่านาโบทตายแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงไปยังสวนองุ่นของนาโบทชาวยิสเรเอล เพื่อยึดครองสวนองุ่นนั้น


เล่าเรื่องพระเยซู (จบ) 31 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนชีพจริงแท้

bluesilvanimcross.gif

31
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนชีพจริงแท้


       ทว่าเรื่องราวไม่ได้จบลงที่นี่ แม้ว่าศิษย์ของพระเยซูเจ้าหลายคนจะคิดและตระหนักใจว่าการผจญภัยที่พวกเขาได้เริ่มกับพระเยซูแห่งนาซาแร็ธมาสามปีจบลงแล้ว
       หญิงคนหนึ่งที่มารู้ว่าไม่เป็นเช่นนี้ เธอคือมารีย์ มักดาลา ที่เคยชโลมพระเยซูเจ้าด้วยน้ำหอมล้ำค่าและรักพระองค์มากกว่าใคร เมื่อเธอมาถึงคูหาฝังร่างของพระเยซูเจ้า เธอเห็นว่าคูหาว่างเปล่า จึงรีบวิ่งไปบอกบรรดาศิษย์ “พวกเขาได้นำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากคูหา”
       เปโตรและยอห์นมาพบความจริงเดียวกัน พวกเขาเข้าไปในคูหาฝังพระศพและไม่พบพระศพ มีผ้าห่อหุ้มศพของพระองค์ รวมกับผ้าปิดพระพักตร์วางอยู่เคียงข้างกัน พวกเขากลับมาบ้านด้วยความเศร้าโศกและผิดหวัง
       แต่มารีย์ มักดาลา ยังคงอยู่ต่อไปที่พระคูหาเพื่อร้องไห้ ทันใดเธอจำเสียงพระองค์ได้ พระองค์ทรงเรียกชื่อเธอ “มารีย์”
       เธอไม่สงสัยอีกต่อไป ความไม่แน่ใจหายไปสิ้น ตั้งแต่เช้าตรู่ พระองค์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนอยู่ที่นั่น อยู่ต่อหน้าเธอและเธอสามารถจูบพระบาท สวมกอดพระองค์
       “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้ที่นี่” พระเยซูเจ้าตรัส “แต่จงไปหาพี่น้องของเราและบอกพวกเขาว่าเรากลับไปหาพระบิดาของเรา พระเจ้าของทุกคน”
       หลังจากที่นำข่าวไปแจ้งบรรดาศิษย์ รุ่งสางมารีย์กับสตรีบางคนซึ่งเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้ากลับมาที่คูหาฝังศพ พบว่าหินก้อนใหญ่ที่ปิดทางเข้าคูหาถูกเคลื่อนออกมา คูหาว่างเปล่า หนุ่นคนหนึ่งในชุดขาวถามพวกเธอว่า “พวกเธอมาหาใคร? พระเยซูแห่งนาซาแร็ธที่ถูกตรึงกางเขนไม่อยู่ที่นี่ ทรงกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว จงไปบอกเรื่องนี้แก่ศิษย์ของพระองค์” พวกเธอออกจากบริเวณคูหาฝังศพ สับสน และวิ่งหนีไปด้วยความหวาดกลัว  พระเยซูเจ้าทรงปรากฏพระองค์และตรัสกับพวกเธอว่า “จงอย่ากลัวเลย”
       พฤติกรรมของพวกเธอยืนยันกับบรรดาศิษย์ได้อย่างชัดแจ้งว่า “พระเยซูเจ้า ผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ทรงกลับคืนชีพแล้ว”
       ทว่าบรรดาศิษย์กลับมีท่าทีตรงข้ามลูกาบอกว่าพวกเขาหาว่าบรรดาสตรีเพ้อเจ้อและแต่งเรื่องราวไร้สาระ
       จึงเห็นได้ว่า เช้าวันอาทิตย์นั้น ไม่มีศิษย์คนใดเชื่อการกลับคืนชีพของพระอาจารย์ ยกเว้นบรรดาสตรี

       พวกเขาต้องเห็นพระองค์ด้วยตาพวกเขาเอง ต้องฟังพระองค์พูดกับหู อีกทั้งต้องรับของขวัญแห่งสันติและพระจิตเจ้า ต้องเอานิ้วแยงเข้าที่รอยแผลจากตาปูเพื่อจะเชื่อว่าพระองค์ทรงกลับคืนชีพแล้ว  และทุกอย่างก็เกิดขึ้นในค่ำวันอาทิตย์นั้นเอง
       แม้แต่ศิษย์สองคนแห่งเอมมาอุสแทบจะจำพระองค์ไม่ได้ ถึงจะเดินทางเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระองค์ เพราะพวกเขาดื้อรั้นและเชื่อยากในสิ่งที่บรรดาประกาศกได้กล่าวถึงพระองค์
       การปรากฏองค์ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงชีวิตเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงสี่สิบวันที่พระองค์ทรงอยู่กับบรรดาศิษย์
       เปาโลซึ่งถือว่าเป็นสาวกคนที่สิบสาม ได้ยืนยันถึงพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและกลับเป็นขึ้นมา  ในปีที่ 45 ท่านเขียนในจดหมายฉบับแรกถึงชาวโครินท์ “พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะบาปของเรา ดังที่มีเขียนในพระคัมภีร์และทรงถูกฝังไว้  แต่สามวันต่อมา ทรงกลับคืนชีพตามที่มีเขียนในพระคัมภีร์และได้ทรงปรากฏพระองค์แก่เปโตร  แล้วนั้นก็ทรงปรากฏองค์แก่สาวกทั้งสิบสอง พวกเขาส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็มีบางคนที่เสียชีวิตไปแล้วต่อมาทรงปรากฏองค์แก่เคฟาส แล้วจึงทรงแสดงองค์แก่อัครสาวกสิบสองคน หลังจากนั้นก็ทรงแสดงองค์แก่พี่น้องมากกว่าห้าร้อยคนในคราวเดียว ในที่สุด ทรงแสดองค์กับข้าพเจ้า ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนดด้วย” (คร15,3-9)
       เปโตร หัวหน้าของสาวก ไม่เพียงได้เห็นพระเยซูเจ้าที่ทะเลสาบเท่านั้น แต่ยังได้ยินพระองค์ถามว่า “ซีมอน ท่านรักเราไหม?” ถึงสามครั้ง
       พระเยซูเจ้าทรงประสงค์ให้เปโตรลบล้างความผิดที่ได้ปฏิเสธพระองค์สามครั้งที่บ้านของไคฟาส  พร้อมกับทรงมอบหมายภารกิจให้เขาดูแลหมู่คณะคริสตชน เป็นประจักษ์พยานให้แก่โลกว่าพระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ ได้ทรงกลับคืนชีพแล้ว
       พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ที่เยรูซาเล็มและแคว้นยูเดีย ในห้องอาหารและตามถนนหนทาง บนภูเขาและริมฝั่งทะเลสาบ ทั่วไปในทุกแห่ง องค์พระผู้ทรงกลับคืนชีพคือผู้ที่แสดงองค์ให้เห็นทั่วไป เพราะพระองค์ยังทรงมีชีวิตอยู่กับเราเสมอไป
       เหตุการณ์น่าทึ่งยังดำเนินต่อไป แม้ยากจะยอมรับ แต่ประจักษ์พยานของผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่ยืนยันให้เห็นความจริงในรูปแบบเดียวกัน  ตามมาด้วยบุคคลจำนวนมากที่ร่วมเป็นประจักษ์ในเหตุการณ์น่าทึ่งนี้ในประวัติศาสตร์มนุษย์จนกระทั่งทุกวันนี้ 



 

พระคูหาว่างเปล่า

       ช้าตรู่วันต้นสัปดาห์ ขณะที่ยังมืด มารีย์ชาวมักดาลาออกไปที่พระคูหา ก็เห็นหินถูกเคลื่อนออกไปจากพระคูหาแล้ว
        นางจึงวิ่งไปหาซีโมนเปโตรกับศิษย์อีกคนหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงรักบอกว่า “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากพระคูหาแล้ว พวกเราไม่รู้ว่าเขานำพระองค์ไปไว้ที่ไหน”
        เปโตรกับศิษย์คนนั้นจึงออกไป มุ่งไปยังพระคูหา  ทั้งสองคนวิ่งไปด้วยกัน แต่ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน  เขาก้มลงมองเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่บนพื้น แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน  ซีโมนเปโตรซึ่งตามไปติด ๆ ก็มาถึง เข้าไปในพระคูหาและเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น  รวมทั้งผ้าพันพระเศียรซึ่งไม่ได้วางอยู่กับผ้าพันพระศพ แต่พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง  ศิษย์คนที่มาถึงพระคูหาก่อนก็เข้าไปข้างในด้วย เขาเห็นและมีความเชื่อ  เขาทั้งสองคนยังไม่เข้าใจพระคัมภีร์ ที่ว่า พระองค์ต้องทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย  หลังจากนั้น ศิษย์ทั้งสองคนก็กลับไปบ้าน ยน 20,1-10

พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่มารีย์ชาวมักดาลา

        ารีย์ยังคงยืนร้องไห้อยู่นอกพระคูหา ขณะที่ร้องไห้นั้น นางก้มลงมองในพระคูหา  ก็เห็นทูตสวรรค์สององค์สวมเสื้อขาวนั่งอยู่ตรงที่ที่เขาวางพระศพของพระเยซูเจ้าไว้ องค์หนึ่งนั่งอยู่ทางเบื้องพระเศียร อีกองค์หนึ่งนั่งอยู่ทางเบื้องพระบาท  ทูตสวรรค์ทั้งสองถามนางว่า
        “นางเอ๋ย ร้องไห้ทำไม”
        นางตอบว่า
        “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าของดิฉันไปแล้ว ดิฉันไม่รู้ว่า เขานำพระองค์ไปไว้ที่ใด”       
        เมื่อตอบดังนี้แล้ว นางก็หันกลับมา และเห็นพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ที่นั่น แต่ไม่รู้ว่าเป็นพระเยซูเจ้า  พระองค์ตรัสถามนางว่า
        “นางเอ๋ย ร้องไห้ทำไม กำลังเสาะหาผู้ใด”
        นางคิดว่าพระองค์เป็นคนสวน จึงตอบว่า
        “นายเจ้าขา ถ้าท่านนำพระองค์ไป ช่วยบอกดิฉันว่าท่านนำพระองค์ไปไว้ที่ไหน ดิฉันจะได้ไปนำพระองค์กลับมา”
        พระเยซูเจ้าตรัสเรียกนางว่า
        “มารีย์ นางจึงหันไป
        ทูลพระองค์เป็นภาษาฮีบรูว่า
        “รับโบนี ซึ่งแปลว่า พระอาจารย์
        พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า
        “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้เลย เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดา แต่จงไปหาพี่น้องของเรา และบอกเขาว่า เรากำลังขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเรา และพระบิดาของท่านทั้งหลาย ไปเฝ้าพระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่านทั้งหลาย”
        มารีย์ ชาวมักดาลาจึงไปแจ้งข่าวกับบรรดาศิษย์ว่า “ดิฉันได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” และเล่าเรื่องที่พระองค์ตรัสกับนาง ยน 20,11-18

 

พระคูหาว่างเปล่า ข่าวดีจากทูตสวรรค์

       มื่อวันสับบาโตล่วงไปแล้ว มารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบ และนางสะโลเม ซื้อเครื่องหอมเพื่อชโลมพระศพของพระเยซูเจ้า เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว สตรีทั้งสามคนไปยังพระคูหา และกล่าวแก่กันว่า “ใครจะกลิ้งก้อนหินออกจากทางเข้าพระคูหาให้เรา” แต่เมื่อมองไป ก็เห็นว่าก้อนหินนั้นถูกกลิ้งออกไปแล้ว หินก้อนนั้นใหญ่โตมาก ครั้นเข้าไปภายในพระคูหา สตรีทั้งสามคนเห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งสวมเสื้อยาวสีขาวนั่งอยู่ด้านขวามือ ก็ตกตะลึง  ชายหนุ่มผู้นั้นกล่าวกับสตรีทั้งสามคนว่า “อย่ากลัวไปเลย ท่านกำลังมองหาพระเยซู ชาวนาซาเร็ธ ผู้ถูกตรึงกางเขน พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ สถานที่นี้คือสถานที่ที่เขาได้วางพระศพไว้  จงไปแจ้งบรรดาศิษย์และเปโตรให้รู้ว่า  “พระองค์เสด็จล่วงหน้าท่านทั้งหลายไปในแคว้นกาลิลีแล้ว ท่านจะเห็นพระองค์ที่นั่น  ดังที่ทรงบอกท่านไว้” สตรีทั้งสามคนออกจากพระคูหา หนีไปเพราะตกใจกลัวจนตัวสั่น และไม่ได้พูดเรื่องใด ๆ กับใครเลยเพราะกลัว มก16,1-8

พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่สตรีทั้งสองคน

       ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาพบสตรีทั้งสองคน  ตรัสว่า “จงยินดีเถิด”
       ทั้งสองคนจึงเข้าไปใกล้ กอดพระบาทนมัสการพระองค์ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “อย่ากลัวเลย จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเราให้ไปยังแคว้นกาลิลี เขาจะพบเราที่นั่น” มธ 28,9-10

 

ผู้นำชาวยิวป้องกันตน

       มื่อสตรีทั้งสองคนเดินทางไป ทหารยามบางคนเข้าไปในเมือง แจ้งเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่บรรดาหัวหน้าสมณะ มธ 28,11 

 

พระคูหาว่างเปล่า ข่าวดีจากทูตสวรรค์

       บัดนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าลงจากสวรรค์เข้าไปกลิ้งหินออกและนั่งบนหินนั้น  ใบหน้าของทูตสวรรค์แจ่มจ้าเหมือนสายฟ้า อาภรณ์ขาวราวหิมะ มธ 28,2-3

 

ผู้นำชาวยิวป้องกันตน

       บุคคลเหล่านี้จึงประชุมปรึกษากันกับบรรดาผู้อาวุโสแล้วตกลงจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้ทหาร  สั่งว่า “ท่านทั้งหลายจงพูดว่า ‘บรรดาศิษย์ของเขามาขโมยศพไปในเวลากลางคืน ขณะที่เรากำลังหลับอยู่’ ถ้าเรื่องมาถึงหูของผู้ว่าราชการ เราจะชี้แจงแก่เขาทำให้ท่านพ้นโทษ”
       ทหารได้รับเงินและกระทำตามคำแนะนำ เรื่องนี้จึงเล่าลือกันในหมู่ชาวยิวจนกระทั่งทุกวันนี้ มธ 28,12-15

 

การเดินทางไปหมู่บ้านเอมมาอูส

       วันนั้น ศิษย์สองคนกำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอูส ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 11 กิโลเมตร  ทั้งสองคนสนทนากันถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น
       ขณะที่กำลังสนทนาและถกเถียงกันอยู่นั้น พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาร่วมเดินทางด้วย แต่เขาจำพระองค์ไม่ได้ เหมือนดวงตาถูกปิดบัง
      พระองค์ตรัสถามว่า
      ‘ท่านสนทนากันเรื่องอะไรตามทาง ทั้งสองคนก็หยุดเดิน ใบหน้าเศร้าหมอง
       ศิษย์ที่ชื่อเคลโอปัสถามว่า
       'ท่านเป็นเพียงคนเดียวในกรุงเยรูซาเล็มหรือที่ไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นั่นเมื่อสองสามวันมานี้’         พระองค์ตรัสถามว่า
       ‘เรื่องอะไรกัน’
        เขาตอบว่า
        ‘ก็เรื่องพระเยซูชาวนาซาเร็ธ ประกาศกทรงอำนาจในกิจการและคำพูดเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้าประชาชนทั้งปวง  บรรดาหัวหน้าสมณะและผู้นำของเรามอบพระองค์ให้ต้องโทษประหารชีวิต และตรึงพระองค์บนไม้กางเขน  เราเคยหวังไว้ว่าพระองค์จะทรงปลดปล่อยอิสราเอลให้เป็นอิสระ แต่นี่เป็นวันที่สามแล้วตั้งแต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น  สตรีบางคนในกลุ่มของเราทำให้เราประหลาดใจอย่างยิ่ง เขาไปที่พระคูหาตั้งแต่เช้าตรู่  เมื่อไม่พบพระศพ เขากลับมาเล่าว่าได้เห็นนิมิตของทูตสวรรค์ซึ่งพูดว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่  บางคนในกลุ่มของเรา ไปที่พระคูหา และพบทุกอย่างดังที่บรรดาสตรีเล่าให้ฟัง แต่ไม่เห็นพระองค์’
       พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า
       'เจ้าคนเขลาเอ๋ย ใจของเจ้าช่างเชื่องช้าที่จะเชื่อข้อความที่บรรดาประกาศกกล่าวไว้  พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ’
       แล้วพระองค์ทรงอธิบายพระคัมภีร์ทุกข้อที่กล่าวถึงพระองค์ให้เขาฟังโดยเริ่มตั้งแต่โมเสสจนถึงบรรดาประกาศก
       เมื่อพระองค์ทรงพระดำเนินพร้อมกับศิษย์ทั้งสองคนใกล้จะถึงหมู่บ้านที่เขาตั้งใจจะไป พระองค์ทรงทำท่าว่าจะทรงพระดำเนินเลยไป  แต่เขาทั้งสองรบเร้าพระองค์ว่า “จงพักอยู่กับพวกเราเถิด เพราะใกล้ค่ำและวันก็ล่วงไปมากแล้ว’ พระองค์จึงเสด็จเข้าไปพักกับเขา  ขณะประทับที่โต๊ะกับเขา พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปังและยื่นให้เขา
        เขาก็ตาสว่างและจำพระองค์ได้ แต่พระองค์หายไปจากสายตาของเขา
        ศิษย์ทั้งสองจึงพูดกันว่า ‘ใจของเราไม่ได้เร่าร้อนเป็นไฟอยู่ภายในหรือเมื่อพระองค์ตรัสกับเราขณะเดินทาง และอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟัง’
        เขาทั้งสองคนจึงรีบออกเดินทางกลับไปกรุงเยรูซาเล็มในเวลานั้น พบบรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนกำลังชุมนุมกันอยู่กับศิษย์อื่น ๆ
        เขาเหล่านี้บอกว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริง ๆ และทรงสำแดงพระองค์แก่ซีโมน’  ศิษย์ทั้งสองคนจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามทางและเล่าว่าตนจำพระองค์ได้เมื่อทรงบิขนมปัง ลก 24,13-35

 

พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์กับบรรดาศิษย์

       ค่ำวันนั้นซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่ เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”
       ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี
       พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า
       “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
       ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลม เหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า  “จงรับพระจิตเจ้าเถิด" ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด
       บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย” ยน 20,19-23

       ทมัส ซึ่งเรียกกันว่า “ฝาแฝด” เป็นคนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน ไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่น ๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา  ศิษย์คนอื่น บอกเขาว่า
        “พวกเราเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว”
        แต่เขาตอบว่า
        “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด”
       แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก โทมัสก็อยู่กับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่ประตูปิดอยู่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”  แล้วตรัสกับโทมัสว่า
       “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด”
       โทมัสทูลพระองค์ว่า
        “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”
        พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า
        “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อ แม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข” ยน 20,24-29



       มื่อบรรดาศิษย์กินเสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสกับซีโมนเปโตรว่า
       “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเรามากกว่าคนเหล่านี้รักเราไหม”
       เปโตรทูลตอบว่า
       “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์”
       พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า
       “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด”
        พระองค์ตรัสถามเขาอีกเป็นครั้งที่สองว่า
       “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม”
       เขาทูลตอบว่า
       “ใช่แล้ว พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์”
        พระองค์ตรัสกับเขาว่า
        “จงดูแลลูกแกะของเราเถิด"
       พระองค์ตรัสถามเป็นครั้งที่สามว่า
       “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม”
       เปโตรรู้สึกเป็นทุกข์ที่พระองค์ตรัสถามตนถึงสามครั้งว่า
       “ท่านรักเราไหม
        เขาทูลตอบว่า
       “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบว่าข้าพเจ้ารักพระองค์”     
       พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า
       “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” เราบอกความจริงกับท่านว่า เมื่อท่านยังหนุ่ม ท่านคาดสะเอวด้วยตนเอง และเดินไปไหนตามใจชอบ แต่เมื่อท่านชรา ท่านจะยื่นมือ แล้วคนอื่นจะคาดสะเอวให้ท่าน พาท่านไปในที่ที่ท่านไม่อยากไป”
       พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพื่อแสดงว่าเปโตรจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยตายอย่างไร เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงเสริมว่า “จงตามเรามาเถิด” ยน21,15-19

       ปโตรเหลียวไปดู ก็เห็นศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักตามมา เป็นคนที่เอนกายชิดพระอุระพระเยซูเจ้าในการเลี้ยงอาหารค่ำ และทูลถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า ผู้ที่ทรยศพระองค์เป็นใคร”  เมื่อเปโตรเห็นเขา ก็ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า
       “คนนี้จะเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า”
       พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า
       “ถ้าเราอยากให้เขาอยู่จนกว่าเราจะกลับมา ธุระอะไรของท่านเล่า ท่านจงตามเรามาเถิด”
       ดังนั้น จึงมีเรื่องที่เล่าลือกันไปทั่วในกลุ่มบรรดาพี่น้องว่าศิษย์คนนี้จะไม่ตาย แต่พระเยซูเจ้ามิได้ตรัสว่า “เขาจะไม่ตาย” แต่ตรัสว่า “ถ้าเราอยากให้เขาอยู่จนกว่าเราจะกลับมา ธุระอะไรของท่านเล่า”ยน21,20-23

       นี่คือศิษย์ที่เป็นพยานถึงเรื่องราวเหล่านี้ และเขียนบันทึกไว้ พวกเรารู้ ว่าคำพยานของเขานั้นเป็นความจริง
       ยังมีเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมายที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ซึ่งถ้าจะเขียนลงไว้ทีละเรื่องทั้งหมด ข้าพเจ้าคิดว่า โลกทั้งโลกคงไม่พอบรรจุหนังสือที่จะต้องเขียนนั้น ยน21,24-25



ผู้กลับใจ